CIMBT ลดเป้าสินเชื่อปีนี้เหลือโต 10% มองกำไรปีนี้ดีกว่าปีก่อน
CIMBT ลดเป้าสินเชื่อปีนี้เหลือโต 10% จากเดิมคาดโต 15-20% หลังศก.ในปท.ชะลอตัว เผย Q4/58 ยังมีแนวโน้มตั้งสำรองฯเพิ่มตามภาวะศก. อย่างไรก็ตามยังมองกำไรปีนี้ดีกว่าปีก่อน จากงานด้าน IB ที่เติบโตสูง
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ระบุว่า ธนาคารปรับลดเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อปีนี้เหลือ 10% จากเดิมที่คาดจะขยายตัว 15-20% เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลต่อความต้องการสินเชื่อที่ลดลงตาม
โดยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้สินเชื่อรวมของธนาคารขยายตัวได้เพียง 4.7% ขณะที่วางเป้าหมายรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้ไม่เกิน 4% พร้อมคาดไตรมาส 4/58 ยังมีแนวโน้มตั้งสำรองฯเพิ่มตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังเชื่อทั้งปีนี้กำไรสุทธิจะมากกว่าปีก่อน จากงานธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) และธุรกิจนายหน้าประกันภัยผ่านธนาคาร (Bancassurance) ที่ขยายตัวมาก
ขณะที่ปัจจุบันสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อของธนาคารแบ่งออกเป็น สินเชื่อลูกค้ารายย่อย 40% หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 6-7 หมื่นล้านบาท สินเชื่อลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 30% หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 5 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ 30% หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 5 หมื่นล้านบาทจากเป้าหมายเมื่อต้นปีที่จะคุม NPL ให้ไม่เกิน 3.4%
โดยการลด NPL ในช่วงที่เหลือของปีธนาคารอาจจะทำการตัดจำหน่ายหนี้สูญออกบางส่วน เพื่อทำให้ NPL ลดลง แม้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้นมาที่ 4.3% จาก 3.3% สิ้นปี 57 เป็นผลมาจาก NPL ของสินเชื่อลูกค้ารายย่อยและสินเชื่อลูกค้า SMEs ที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับสินเชื่อประเภทเทรดดิ้งที่ธนาคารได้ปล่อยให้กับบมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) กว่า 100 ล้านบาทด้วย แต่ธนาคารได้ตั้งสำรองสินเชื่อที่ปล่อยให้กับ SSI ไปแล้ว 100%
ทั้งนี้ การตั้งสำรองฯในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.25 พันล้านบาท จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการคุณภาพหนี้ของธนาคาร โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อลูกค้ารายย่อยและลูกค้า SMEs ที่มีความเสี่ยงสูงเรื่องคุณภาพหนี้ที่อาจจะลดลง ทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองฯเพื่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะตั้งเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในไตรมาส 4/58 ตามแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทย
“สำรองฯไตรมาส 4 นี้อาจจะขึ้นเล็กน้อย ที่เราจะตั้งสำรองฯให้เพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้เรามีกำไร เราก็อยากเอากำไรบางส่วนมาตั้งสำรองฯ เพื่อป้องกันไว้ เผื่อมีสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น และภาวะเศรษฐกิจแบบนี้เราก็ไม่กล้าการันตี 100% ว่าลูกค้าเราจะไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเราก็เผื่อความเสี่ยงนี้ไว้ ภาวะแบบนี้ลูกค้าที่เสี่ยวมากที่สุดคือกลุ่ม SMEs”นายสุภัค กล่าว
ขณะที่ธนาคารยังเชื่อว่ากำไรสุทธิปีนี้จะมากกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 989 ล้านบาท หลังในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ทำกำไรสุทธิได้แล้ว 846.54 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโตมากถึง 83.9% ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการรุกงานด้านวาณิชธนกิจมากขึ้น โดยงานด้าน Investment Banking เติบโต 47.5% ขณะที่ธุรกิจนายหน้าประกันภัยผ่านธนาคาร ก็ขยายตัวมาก โดยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้เติบโต 9.4%
ประกอบกับในช่วงปลายปีนี้ต้นทุนเงินฝากของธนาคารมีแนวโน้มที่ลดลงราว 10% ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารในช่วงปลายปีจะกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจาก 9 เดือนลดลงมาอยู่ที่ 3.2%จาก 3.4% ในสิ้นปี 57
“กำไรปีนี้ก็คงจะดีกว่าปีก่อน เพราะว่างานฝั่ง IB เราเติบโตสูง และ Bancassurance ก็ยังเติบโตในระดับที่ดีอยู่ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย 9 เดือนก็โตได้ 83.9% ส่วนทั้งปีก็ยังยืนเป้าโต 25-30% คิดว่าถ้ากำไรมากกว่า 0.01% ก็ถือว่ามีกำไรมากกว่าปีก่อนแล้ว”นายสุภัค กล่าว
นอกจากนี้ในส่วนของงานด้านวาณิชธนกิจของธนาคารในช่วงที่เหลือของปีจะยังมีดีลการขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) อีก 3 ดีล โดย 1 ดีลที่สามารถเปิดเผยได้ คือ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอบิสซิเนส คอมเพล็กซ์ (WHABT) มูลค่าไม่เกิน 2.52 พันล้านบาท ที่เตรียมเสนอขายในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ และอีก 2 ดีล IPO ที่จะมีการเสนอขายในช่วงที่เหลือของปีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งธนาคารได้เป็นผู้ส่วนร่วมกับสถาบันการเงินรายอื่นในการทำดีล IPO ทั้ง 2 ดีลที่เหลือในปีนี้ ส่วนในปี 59 เบื้องต้นมีดีล IPO อีก 4-5 ดีล
สำหรับการเพิ่มทุนของธนาคาร จำนวน 3.6 พันล้านหุ้น ที่มีกำหนดการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในวันที่ 26-30 ตุลาคม 2558 นั้น ทางกลุ่มซีไอเอ็มบีทีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 93.71% นั้น พร้อมที่จะเพิ่มทุนตามสัดส่วนการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมที่ธนาคารกำหนดไว้ ในอัตรา 40 หุ้นเดิมต่อ 7 หุ้นใหม่ โดยราคาเสนอขายอยู่ที่ 1 บาท/หุ้น โดยการเพิ่มทุนดังกล่าวธนาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนครั้งนี้ไปใช้ในการปล่อยสินเชื่อและสร้างการเติบโตให้กับธนาคารในอนาคต รวมถึงจะทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier-1) ในสิ้นปี 58 ของธนาคารปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 11% จากปัจจุบันอยู่ที่ 9.1% และอัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่อกองทุนขั้นที่ 1 (CAR) มาอยู่ที่ 15% ในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 13.7%
นอกจากนี้ธนาคารยังตั้งเป้าหมายการเพิ่มอัตราส่วนผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) ภายในปี 61 เพิ่มเป็น 10-12% และปี 59 เพิ่มเป็น 7% ตามลำดับ จากปีนี้ที่คาดว่า ROE จะอยู่ที่ 5-6% ซึ่งยังถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่กลุ่มซีไอเอ็มบี ตั้งเป้าไว้มี ROE ไม่น้อยกว่า 15% แต่อย่างไรก็ตามระดับ ROE ของธนาคารในปัจจุบันยังเป็นที่น่าพอใจให้กับกลุ่มซีไอเอ็มบี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความผันผวน และปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังชะลอตตัว ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างมากในการปรับตัวและสร้างการขยายตัวกว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่กลุ่มซีไอเอ็มบีตั้งเป้าไว้