GULF บวก 3% จ่อเบิ้ลเขื่อนลาว ลุยปากแบง 987 MW ดันกำไรเพิ่มปีละ 1 พันลบ.
GULF บวก 3% จ่อเบิ้ลเขื่อนใน สปป.ลาว ลุยปากแบง 987 MW โบรกฯ คาดดันกำไรเพิ่มอีกปีละ 1 พันลบ. มีอัพไซด์ราคาหุ้น 1-2 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 ก.พ. 2565) ราคาหุ้น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ณ เวลา 10:24 น. อยู่ที่ระดับ 50.50 บาท บวกไป 1.50 บาท หรือขึ้นไป 3.06% โดยทำจุดสูงสุดที่ระดับ 50.75 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 49.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 553.25 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้น GULF ปรับตัวขึ้นส่วนหนึ่งพบข้อมูลว่ามีแหล่งข่าววงการพลังงาน เปิดเผยว่า GULF จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว เพิ่มอีก 1 โครงการ ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Beng) เป็นเขื่อนประเภทน้ำไหลผ่าน ไม่มีอ่างเก็บน้ำ กำลังการผลิตเสนอขาย 897 เมกะวัตต์ (MW) จากกำลังการผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) เดือนธันวาคม 2571 ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.7962 บาทต่อหน่วย หลังจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้ลงนาม Tariff MOU โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย (Pak Lay) กำลังผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 2.6989 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง
ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำดังกล่าว มีพันธมิตรเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นกัน โดยจะมีขนาดกำลังการผลิตใหญ่กว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้
ด้านนางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยว่า บริษัท กัลฟ์ แอลเอ็นจี จำกัด (Gulf LNG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้เป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้นอีก 5.54 ล้านตัน เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า IPP ของกลุ่มบริษัท
โดยก่อนหน้านี้ Gulf LNG ได้รับใบอนุญาตจัดหาและนำเข้า LNG จากทาง กกพ. ปริมาณ 0.30 ล้านตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมของโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 19 โครงการของกลุ่มบริษัท และต่อมา Gulf LNG ได้รับอนุมัติจาก กกพ. ให้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีก 0.53 ล้านตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้แก่กลุ่มของบริษัท ปตท. จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (PTT NGD) ดังนั้นส่งผลให้ในปัจจุบัน Gulf LNG มีสิทธิในการจัดหาและนำเข้า LNG ในปริมาณรวมทั้งสิ้น 6.37 ล้านตันต่อปี
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าการที่บริษัทได้เป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติจะเป็นการตอบสนองนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ จะเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ที่มีความต้องการใช้ก๊าซ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศโดยรวม
นอกจากนี้ ในอนาคตบริษัทยังสามารถนำ LNG ของกลุ่มมาใช้บริการกับท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการของบริษัทที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2563 GULF ได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของ PTT NGD ในสัดส่วน 40% จาก International Power S.A. ด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,700 ล้านบาท โดยได้เข้าลงนามสัญญาซื้อขายหุ้น (Share Purchase Agreement) กับ International Power S.A. พร้อมทั้งดำเนินการโอนหุ้น ในวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นใน PTT NGD ภายหลังจากการซื้อขายหุ้น ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ถือหุ้น 58% GULF ถือหุ้น 40% และบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด ถือหุ้น 2%
สำหรับ PTT NGD จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติโดยลงทุนสร้างระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติไปยังลูกค้าในพื้นที่อุตสาหกรรม 13 แห่ง รอบกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ระยอง โดยมีลูกค้าอุตสาหกรรมมากกว่า 250 ราย การลงทุนดังกล่าวจึงถือเป็นการขยายธุรกิจด้านพลังงานของ GULF และเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ร่วมทุนกับ PTT นอกเหนือไปจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3
นอกจากนี้บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ GULF ถือหุ้น 49% และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 51% ได้ขอรับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติจาก กกพ. ให้เป็นผู้จัดหาและนำเข้า LNG ปริมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลหินกอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์(COD) ในปี 2567-2568
สำหรับโรงไฟฟ้าปากแบงหนุนกำไรเพิ่ม 1 พันล้าน/ปี
ด้านนายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (FSSIA) กล่าวว่า GULF เตรียมลงนาม Tariff MOU โครงการโรงไฟฟ้าปากแบง ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 800 เมกะวัตต์ ใน สปป.ลาว เร็ว ๆ นี้ คาดว่าจะทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ล้านบาทต่อปี และมีอัพไซด์ต่อราคาหุ้น GULF 1-2 บาท จากราคาเป้าหมายที่ 56 บาท ซึ่งยังไม่รวมโครงการโรงไฟฟ้าปากลาย ขนาดกำลังการผลิต 770 เมกะวัตต์ที่ลงนามเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน GULF แจ้งได้รับสิทธิการนำเข้า LNG เพิ่มเป็น 6.37 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้าในกลุ่ม และขายไฟให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม เชื่อว่าจะทำให้บริษัทบริหารต้นทุนไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นแนวโน้มธุรกิจของ GULF ยังมีโอกาสเติบโตอย่างมาก จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ”
ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. ได้ออกใบอนุญาต Gulf LNG จัดหาและนำเข้า LNG เพิ่มเติมอีก 5.54 ล้านตัน เพื่อใช้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า IPP บางโรงที่ยังไม่มีสัญญาซื้อขายก๊าซกับทาง ปตท. ซึ่ง GULF แจ้งความประสงค์ในการนำเข้า LNG เพิ่ม และจะไม่กระทบต่อ Take or Pay เนื่องจากโรงไฟฟ้าบางโรงของ GULF ยังไม่มีสัญญากับทาง ปตท. ดังนั้นหากเอกชนต้องการนำเข้า LNG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulated Market) หรือที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ แบบสำหรับสัญญาระยะยาวและ/หรือสัญญาระยะกลาง ก็ต้องนำหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG (LNG Benchmark) มาคำนวณ ส่วนกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ภาคอุตสาหกรรม และกิจการของตนเอง (Partially Regulated Market) จะต้องบริหารจัดการต้นทุนเอง
อย่างไรก็ตามแผนนำเข้า LNG ของ Gulf LNG จะสอดรับกับโรงไฟฟ้าที่จะ COD ในอนาคต ส่วนเอกชนรายอื่นที่ได้รับใบอนุญาตจัดหาและนำส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) แล้ว สามารถนำเข้าได้ตามแผน เนื่องจากใบอนุญาตดังกล่าว จะนำไปใช้สำหรับการเจรจาสัญญา LNG และการจองเทอร์มินอล ส่วนจะนำเข้าเมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับแผนและความพร้อมของ Shipper แต่ละราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าและการขยายกรอบความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยกับ สปป. ลาว ดังนี้ โครงการน้ำงึม 3 ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.8934 บาทต่อหน่วย โครงการปากแบง ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.7935 บาทต่อหน่วย โครงการปากลาย ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.9426 บาทต่อหน่วย โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดสัญญาและมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง และโครงการปากลาย ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและ สปป. ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้า ใน สปป. ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังน้ำจาก สปป. ลาว สอดคล้องตามกรอบแผนพลังงานชาติ ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่าง ๆ และสอดคล้องทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาด ลดการปล่อย CO2