BRI บวกแรง 4% รับยอดพรีเซล Q4/64 โตเข้าเป้า 2 พันลบ. ดันทั้งปี 64 นิวไฮแตะ 8.3 พันลบ.

BRI บวกแรง 4% รับยอดพรีเซลไตรมาส 4/64 โตเข้าเป้า 2 พันลบ. ดันทั้งปี 64 นิวไฮแตะ 8.3 พันลบ. พร้อมประเมินตลาดอสังหาฯ ปี 65 โตต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอสังหาฯ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (1 ก.พ. 2565) ว่า บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI  ณ เวลา 11.22 น. อยู่ที่ระดับ 12.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 72.43% โดยทำจุดสูงสุดที่ 12.60 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 12.10 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 72.43 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้(20ม.ค.65) นางศุภลักษณ์ จันทร์พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRI เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 4/2564 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถทำยอดขาย (Presale) ได้ตามเป้าหมาย 2,012 ล้านบาท ส่งผลให้มียอดขายรวมในปี 2564 สูงกว่า 8,300 ล้านบาท ถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา

โดยปัจจัยที่สามารถทำยอดขายได้ดี มาจากการจัดแคมเปญเปิดตัวที่อยู่อาศัยประเภทแนวราบ 6 โครงการใหม่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เช่น โครงการไบรตัน บางปะกง, โครงการบริทาเนีย แพรกษา สเตชั่น เป็นต้น ซึ่งสามารถทำยอดขายได้กว่า 500 ล้านบาท ภายในในช่วง 2 วันของการจัดแคมเปญ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28% ของยอดขายทั้งหมดในช่วงไตรมาส 4/2564

ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพโครงการใหม่ที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี มีการพัฒนาแบบบ้านและฟังก์ชันที่ตอบโจทย์วิถีชีวิต “New Normal” ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจพิจารณาเลือกซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบในโครงการบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น รวมถึงภาครัฐได้ผ่อนปรนมาตรการ LTV (Loan to Value) หรือการกำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน จึงทำให้ความต้องการ (ดีมานด์) ยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

“ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราพบว่าผู้บริโภคสนใจเลือกซื้อบ้านและทาวน์โฮมเพิ่มขึ้น เนื่องจากตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยที่ต้องการพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ขณะที่โครงการของเราได้พัฒนาแบบบ้าน ฟังก์ชัน พื้นที่ส่วนกลาง ให้รองรับความต้องการของผู้บริโภค” นางศุภลักษณ์ กล่าว

นางศุภลักษณ์ กล่าวอีกว่า ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบในปี 2565 ยังมีแนวโน้มเติบโตจากปีก่อน โดยได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ เช่น การผ่อนปรนมาตรการ LTV, มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนอง เป็นต้น จะส่งผลให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการซื้อบ้านได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่สถานการณ์ของราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น จึงมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าก่อสร้างและความสามารถการทำกำไรของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ บริษัทได้มุ่งเน้นการบริหารจัดการซัพพลายเชน ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัสดุก่อสร้าง จากผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ในราคาที่สมเหตุสมผล จนถึงการดูแลการก่อสร้างตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการส่งมอบที่อยู่อาศัยแก่ลูกค้า

Back to top button