KBANK ปักธงปี 59 รุก IPO-M&A ต่อเนื่อง หนุนรายได้วาณิชธนกิจโต 20-30%

KBANK ยังเดินหน้ารุกงานวาณิชธนกิจ (IB) โดยช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีดีลกอง REIT ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีก 2 กอง มูลค่ารวม 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ดีล IPO หมดสิทธิลุ้นในปีนี้หลังตลาดหุ้นไม่คึกคัก รับผลเศรษฐกิจชะลอตัวและภาวะตลาดไม่เอื้อส่งผลให้ความต้องการระดมทุนในตลาดหุ้นทุนไทยลดลง แต่เชื่อปีหน้าภาพตลาดกลับมาคึกคัก หลังผ่านจุดต่ำสุดในปีนี้แล้ว โดยปีหน้ามีดีล IPO ในมือแล้ว 7-8 ดีล มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท หนุนรายได้วาณิชธนกิจปีหน้าโต 20-30% จากปีนี้


นายสิทธิไชย มหาคุณ ผู้บริหารกลุ่มวาณิชธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปีธนาคารยังมีดีลกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีก 2 กอง มูลค่ารวม 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นกอง REIT ที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงาน 1 กอง กอง REIT ที่ลงทุนในคลังสินค้าอีก 1 กอง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้บริษัทได้ออกกอง REIT ไปจำนวน 1 กอง คือ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอมตะซัมมิทโกรท (AMATAR) มูลค่ากอง 3.5 พันล้านบาท

ส่วนดีลเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) ในช่วงที่เหลือของปีที่จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นไม่มีแล้ว เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้นำ IPO จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดแล้ว 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัทสแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN, บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD และบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI มูลค่ารวม 5 พันล้านบาท

สำหรับรายได้กลุ่มวาณิชธนกิจของธนาคารในปีนี้คาดว่าจะพลาดเป้าหมายและต่ำกว่าปีก่อนที่รายได้อยู่ที่ 700 ล้านบาท หลังจาก 9 เดือนแรกปีนี้ กลุ่มวาณิชธนกิจทำรายได้ได้เพียง 400 ล้านบาท เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไทยไม่เอื้ออำนวยมากนัก 

ประกอบกับเผชิญกับความผันผวนของตลาดทุนจากภายนอกที่ส่งผลกระทบถึงตลาดหุ้นไทย ซึ่งมาจากปัจจัยเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และการเมืองในบางประเทศมีความขัดแย้ง รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัวอีกด้วย ส่งผลให้ความต้องการระดมทุนในตลาดทุนไทย และการทำดีลการซื้อกิจการ (M&A) ต่างๆชะลอออกไป เพื่อรอดูจังหวะที่ตลาดกลับมาดีขึ้น

อย่างไรก็ตามธนาคารประเมินว่าภาพรวมของตลาดทุนไทยในปี 59 จะค่อยๆกลับมาดีขึ้น หลังจากมองว่าปีนี้จะเป็นปีที่ตลาดทุนไทยถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่หากยังมีปัจจัยลบอยู่ที่ยังกดดันการฟื้นตัวของตลาดทุนไทยนั้นก็คาดว่าจะไม่แย่เท่ากับปีนี้อย่างแน่นอน อีกทั้งปัจจุบันบริษัทต่างๆยังมีความต้องการใช้เงินอยู่ โดยช่องทางที่ได้รับความสนใจมากที่สุดยังเป็นการเสนอขายหุ้น IPO นำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

โดยในปี 59 กลุ่มวาณิชธนกิจของธนาคารมีดีล IPO ที่แน่นอนแล้วและพร้อมเสนอขายจำนวน 7-8 ดีล มูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาทโดยเป็นบริษัทที่อยู่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานเป็นส่วนใหญ่ ทั้งพลังงานเพื่อการสาธารณูปโภค (Conventional Energy) และพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอนซูเมอร์

อีกทั้งในปี 59 ธนาคารยังดีลกอง REIT ประเภทลงทุนในโรงแรมอีก 1 กอง ซึ่งเป็นกองที่เลื่อนเสนอขายมาจากปีนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาราคาเสนอขายสินทรัพย์อยู่ ทำให้ยังไม่สามารถระบุมูลค่ากองได้ในปัจจุบัน พร้อมทั้งได้ตั้งเป้ารายได้ของกลุ่มวาณิชธนกิจเติบโต 20-30% ในปีหน้า

“IPO ปีหน้าก็ยังคงน่าสนใจอยู่ เพราะหลายๆบริษัทมีความต้องการระดมทุนในตลาดฯค่อนข้างมาก แต่ภาวะตลาดในปีนี้ไม่เอื้ออำนวยทำให้ชะลอกันไปก่อน จริงๆแล้ว IPO มีหน้าต่างในการเข้าตลาดปีหนึ่งประมาณ 2-3 ช่วงต่อปี ก็คือ ช่วงหลังสงกรานต์ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน

สำหรับปีหน้าตลาดหุ้นไทยมองว่าถ้ายังมีปัจจัยลบๆอยู่ก็คงไม่แย่ไปกว่าปีนี้ และก็มีแนวโน้มที่จะค่อยๆฟื้น เพราะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปีนี้ ปีหน้าก็คาดว่าคงไม่มีเหตุการณ์อะไรที่ผิดปกติมาก น่าจะเห็นความชัดเจนต่างๆมากขึ้นทำให้ Sentiment ต่างๆกลับมาดี”นายสิทธิไชย กล่าว

ด้านดีล M&A ในปีหน้าธนาคารยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถระบุได้ในตอนนี้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 59 อีกกี่ดีล เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุนและความเสี่ยงต่างๆ ทำให้การทำดีล M&A ที่ธนาคารทำให้บางดีลยกเลิกได้ แต่ธนาคารจะเน้นการทำดีล M&A ที่มีมูลค่าขนาดใหญ่

ประกอบกับการเน้นการทำดีลที่เกี่ยวข้องกับการขยายธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารมองว่ามีลูกค้าสนใจที่ต้องการซื้อกิจการในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อต้องการขยายฐานลูกค้าและกระจายความเสี่ยงของธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ทั้งนี้การทำดีล M&A ที่มีมูลค่าขนาดใหญ่และดีลที่เกี่ยวข้องกับการขยายธุรกิจในต่างประเทศจะช่วยเข้ามาสนับสนุนรายได้ของกลุ่มวาณิชธนกิจให้เติบโตได้ตามเป้าหมายนอกเหนือจากรายได้ที่ได้จากการทำดีล IPO การทำดีลกองรีท เป็นต้น

 

Back to top button