MTC ปลื้ม! ขายเกลี้ยงหุ้นกู้ 4 พันล้าน รับแผนขยายพอร์ตสินเชื่อปีละ 25-30%
MTC ปลื้ม! หุ้นกู้ 4 พันลบ. ขายเกลี้ยง รับแผนขยายพอร์ตสินเชื่อปีละ 25-30% รักษาผู้นำอันดับ 1 ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ หนุนรายได้-กำไรสร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง
นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผยว่า หุ้นกู้จำนวน 3 รุ่น วงเงิน 4,000 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นกู้อายุ 3 ปี 1 วัน อัตราผลตอบแทน 3.13% ต่อปี หุ้นกู้อายุ 4 ปี อัตราผลตอบแทน 3.45% ต่อปี และหุ้นกู้อายุ 4 ปี 11 เดือน 30 วัน อัตราผลตอบแทน 3.70% ต่อปี ที่เปิดขายระหว่างวันที่ 18, 21-22 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างคึกคัก ขายเกลี้ยงทั้งจำนวน
ทั้งนี้ หุ้นกู้ของบริษัทฯได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ระดับ “BBB+” แนวโน้ม “คงที่” โดยทริสเรทติ้ง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 โดยในครั้งนี้บริษัทฯจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ไปใช้ในการชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด และใช้ในการประกอบธุรกิจและขยายกิจการ
“หุ้นกู้ของ MTC ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนเป็นอย่างดีเหมือนทุกครั้งที่ผ่านๆ มา เนื่องจากธุรกิจของ MTC มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งสะท้อนผ่านอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ “BBB+” จาก ทริสเรทติ้ง แสดงให้เห็นถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันและฐานเงินทุนที่แข็งแรงของบริษัท รวมทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรที่ดี และคุณภาพสินทรัพย์ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ตลอดจนแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัทฯ”
ในส่วนของแผนธุรกิจในปี 2565 บริษัทฯตั้งเป้าไว้จะขยายพอร์ตสินเชื่อ 25-30% แตะที่ระดับ 100,000 ล้านบาท และมีแผนขยายสาขาเพิ่มเป็น 6,500 สาขาให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่มาใช้บริการมากขึ้น โดยมุ่งเน้นบริการที่เป็นเลิศและสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าของบริษัทเพื่อรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ ผลักดันรายได้-กำไรสร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง
สำหรับธุรกิจของบริษัทแบ่งเป็น 5 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ ธุรกิจให้บริการสินเชื่อที่มีโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน ธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ในปี 2565 บริษัทฯ ได้เร่งทำการตลาดเพิ่มอีก 2 ธุรกิจ คือ บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด ที่ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่
ซึ่งมีแนวโน้มยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2565 จะมียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 10,000 ล้านบาท และบริษัท เมืองไทย เพย์ เลเทอร์ จำกัด ที่ให้บริการซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง กับกลุ่มลูกค้าเดิม และหาลูกค้าใหม่มาเพิ่มเติม โดยการเสนอสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ,คอมพิวเตอร์ , เครื่องใช้และของใช้ในบ้าน ตามนโยบาย ซื้อก่อน ผ่อนทีหลัง ซึ่งทั้ง 2 บริษัท ถือหุ้นโดยเมืองไทย แคปปิตอล เกือบ 100%