สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้

สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 28 ต.ค.58


– ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.37/41 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าอยู่ที่ระดับ 120.42/47 เยน/ดอลลาร์

– ส่วนเงินยูโร ช่วงเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.1052/55 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าอยู่ที่ระดับ 1.1027/1031 ดอลลาร์/ยูโร

– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,409.26 ลดลง 14.79 จุด หรือ 1.04% โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 51,826 ล้านบาท

– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,109.94 ล้านบาท (SET+MAI)

 

– ธนาคารโลก (World Bank) รายงานความยากง่ายในการประกอบธุรกิจประจำปี (Doing Business 2016) พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากภาพรวมความยากง่ายในการประกอบธุรกิจให้อยู่ในลำดับที่ 49 เมื่อเปรียบเทียบกับลำดับที่ 46 ในปี 2015 ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจตลอดปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้คงอยู่ใน 50 ประเทศแรกที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจทั่วโลก และติดอันดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

– สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.0% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะจีน ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้อาจหดตัวมากขึ้นเป็น -5.4% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ -4% อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาตั้งแต่เดือนก.ย.58 นั้น คาดว่าจะมีส่วนช่วยหนุน GDP ในปีนี้ให้เพิ่มขึ้น 0.5%

ขณะที่ในปี 59 สศค.คาดว่า GDP จะเร่งตัวขึ้นมาที่ 3.8% โดยได้รับแรงส่งจากการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการก่อสร้างมอเตอร์เวย์และรถไฟรางคู่ ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีต่อการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มมากขึ้นในปีหน้าเช่นกัน

– สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2558/2559 ในส่วนของผลการสำรวจด้านนโยบายการจ้าง พบว่า ด้านการปรับอัตราค่าจ้าง พบว่า ค่าเฉลี่ยการปรับอัตราค่าจ้างปี 2558 คิดเป็น 5.04 % การจ่ายโบนัสประจำปี  พบว่า การจ่ายโบนัสเฉลี่ย คิดเป็น 2.3 เดือน

– นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยคงยังผันผวนไปถึงปีหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจในประเทศจะเติบโตดีขึ้น ประกอบกับ ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะยังไม่พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งนักลงทุนไทยและต่างประเทศส่วนใหญ่มองว่าเฟดจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 1-2/59

– ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมระยะเวลา 2 วันของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวานนี้และจะเสร็จสิ้นในวันนี้ ตามเวลาสหรัฐ ขณะที่ผลการสำรวจ “FedWatch” ซึ่งจัดทำโดย CMEGroup ระบุว่า เฟดอาจจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่เมื่อวานสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอเกินคาด

– กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกในเดือนก.ย.ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยยอดค้าปลีกที่ลดลงเป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงที่อ่อนแรงลง ตอกย้ำว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังอยู่ในภาวะชะลอตัว

– สมาพันธ์ธุรกิจค้าปลีก การค้าต่างประเทศ และการบริการของเยอรมนี (BGA) เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของเยอรมนียังคงมีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศจะเผชิญกับความไม่แน่นอน และวิกฤตข่าวฉาวที่เกิดขึ้นกับโฟล์คสวาเกนก็ตาม

 

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

Back to top button