FPI พุ่งแรง 7% ส่งซิก Q1/65 ยอดขายโตเด่น หลังออเดอร์ล้น ลุ้นทั้งปีพุ่งแตะ 2.4 พันลบ.

FPI พุ่งแรง 7% ส่งซิกไตรมาส 1/65 ยอดขายโตเด่น หลังออเดอร์ล้น เดินหน้าเพิ่มเครื่องจักรทั้งไทย-อินเดีย ลุ้นทั้งปียอดขายพุ่งแตะ 2.4 พันลบ.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นวันนี้ (3 มี.ค.65) บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI ณ เวลา 15:27 น. อยู่ที่ระดับ 3.86 บาท บวก 0.26 บาท หรือ 7.22% สูงสุดที่ระดับ 3.90 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 3.64 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 134.59 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้(2มี.ค.65) นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ FPI เปิดเผยว่า แนวโน้มในไตรมาส 1/2565 คาดยอดขายยังโตต่อเนื่อง ซึ่งมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จำนวนมากจนผลิตไม่ทัน จนต้องมีการเอาท์ซอร์สถึง 6 บริษัท ที่เพิ่มเข้ามาตั้งแต่ปลายปีก่อน อย่างไรก็ตามบริษัทได้มีการสั่งเครื่องจักรเพิ่ม 5 เครื่อง แบ่งเป็นในประเทศอินเดีย 2 เครื่อง และในประเทศไทย 3 เครื่อง

ทั้งนี้ ในปี 2565 ยังมีแนวโน้มที่สดใสโดยคาดจะมียอดขายประมาณ 2,400 ล้านบาท จากปีก่อนที่ประมาณ 2,100 ล้านบาท เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมการส่งออกฟื้นตัวแรง ขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ยังคงมีสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง อีกทั้งบริษัท FPI AUTO PART INDIA PRIVATE LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศอินเดีย ดำเนินธุรกิจออกแบบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, บริการรับออกแบบผลิตภัณฑ์และผลิตแม่พิมพ์พลาสติก, รับจ้างฉีด, ชุบโครเมียม, พ่นสี และประกอบชิ้นงานทุกประเภท ปัจจุบันมีการฟื้นตัวอย่างคึกคัก โดยมีออเดอร์เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อน ซึ่งมีมูลค่างานในมืออยู่แล้วกว่า 700 ล้านรูปี

ดังนั้น บริษัทมียอดคำสั่งซื้อในมือ (Backlog) ทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ มูลค่ารวมกว่า 800 ล้านบาท โดยทยอยรับรู้ในปี 2565 ประมาณ 500 ล้านบาท และที่เหลือจะรับรู้ในปีถัดไป ขณะเดียวกันมีแผนเตรียมยื่นประมูลงานใหม่เพิ่มเติมอีก 300-400 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะประมูลได้ประมาณ 50% ดังนั้นมีโอกาสที่จะสนับสนุนให้งานในมือปี 2565 เพิ่มขึ้นแตะระดับ 1,000 ล้านบาท

โดยในส่วนของงานชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ภายใต้ตราสินค้าของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ (Original Equipment Manufacturer : OEM) คาดว่าปี 2565 จะอยู่ที่ 500 ล้านบาท ปี 2566 จะอยู่ที่ 700 ล้านบาท และปี 2567 จะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจบริการให้เช่าแม่พิมพ์ มีแนวโน้มเติบโตจากความต้องการที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากในปากีสถาน เปรู บราซิล เป็นต้น น่าจะสร้างรายได้ในปี 2565 ประมาณ 30-40 ล้านบาท

ด้านผลการดำเนินงานในปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 329 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 899% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 32.9 ล้านบาท โดยเป็นระดับกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และรายได้รวม 2,167.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.7% จากปีก่อนมีรายได้รวม 1,856.8 ล้านบาท เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมการส่งออกมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศมีผลกระทบรุนแรงลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันกลับมาทำธุรกิจมากขึ้น ความต้องการใช้ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาส 4/2564 ยอดขายฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะที่ราคาวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้ราคาขายสินค้าสามารถปรับตัวมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถขึ้นราคาสินค้ากับลูกค้าได้ 5-10% เนื่องจากราคาวัตถุดิบทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันบริษัทได้ทำสัญญาซื้อวัตถุดิบ โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์และสี และสินค้าซื้อมาขายไป เป็นการล่วงหน้าเป็นเวลา 6-12 เดือน ประกอบกับประสิทธิภาพในการผลิตที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ต้นทุนของเสียในการผลิตลดลง ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี

Back to top button