นายกฯ เรียกทีมศก.แก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุนภาคธุรกิจ 6 พ.ย.นี้

"สมคิด" เผยนายกฯ เรียกถกทีมศก.แก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุนในภาคธุรกิจ 6 พ.ย.นี้


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 พ.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในภาคธุรกิจมาร่วมประชุมเพื่อรายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกิจภาคต่างๆ เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยหลังจากที่มีการประชุมแล้วในระยะเวลาอีก 3 เดือน เชื่อว่าแนวทางจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น และอันดับจะดีขึ้น

อนึ่ง วานนี้ธนาคารโลกประกาศรายงาน Doing Business 2016 โดยประเทศไทย ถูกปรับลดอันดับมาอยู่ที่ 49 จากอันดับ 46 ในปีก่อน

ขณะเดียวกัน นายสมคิด ได้มีการหารือร่วมกับ รมว.คลัง รมช.คลัง และผู้บริหารกระทรวงการคลังว่า หลังจากนี้คงยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นก็พร้อมจะพิจารณาอีกครั้ง แต่แนวทางการบริหารเศรษฐกิจในเฟสที่ 2 จะเน้นไปที่การปฏิรูปเป็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีบทบาทหลักในการดำเนินงานส่วนนี้อย่างมาก

ทั้งนี้ กรอบเวลาจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในช่วง 1 ปี ก่อนจะมีการเลือกตั้ง โดยแนวทางการปฏิรูปจะแบ่งงานออกเป็น 6 กลุ่ม ซึ่งทั้ง 6 กลุ่มงานน่าจะเริ่มลงมือทำตั้งแต่ไตรมาส 4/58 เพื่อที่ปีหน้าจะได้ดำเนินงานงานอย่างเป็นระบบต่อไป

สำหรับกลุ่มงานทั้ง 6 ได้แก่

1. การปฏิรูปภาษี จะเน้นการปรัปรับปรุงระบบภาษีอากรของประเทศ การขยายฐานภาษีเพื่อเสริมด้านรายได้ สร้างความเป็นธรรมในสังคม แต่จะไม่เบียดเบียนคนจนที่กำลังสร้างตัว

2. การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน การทำธรกิจ และการให้บริการประชาชนโดยในวันที่ 6 พ.ย.นายกรัฐมนตรีจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในภาคธุรกิจเข้ามารายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาในการทำธุรกิจต่างๆ เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น และในระยะเวลา 3 เดือนแนวทางจะเป็นรูปธรรมากขึ้น และอันดับของประเทศดีขึ้น

3. การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศในส่วนนี้อาจจะมีการปัดฝุ่นกองทุนนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ โดยเป็นการใส่เงินจากภาครัฐและให้เอกชนเข้ามาร่วมด้วย เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น

4. มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในการพัฒนาตลาดเงิน ตลาดทุนให้มีความเป็นสากลมากขึ้นและให้สะท้อนความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เชื่อมโยงตลาดเพื่อนบ้าน การแก้ไขกฎระเบียบการลงทุนที่ล้าสมัยในส่วนนี้คาดใช้เวลาดำเนินการราว 5-6 เดือนน่าจะเป็นรูปเป็นร่าง

5. การปฏิรูปภายในกระทรวงการคลัง เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ให้กรมธนารักษ์ไปทบทวนบทวนการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้ตอบสนองเขตเศรษฐกิจพิเศษและคลัสเตอร์ เป็นต้น

6. การใช้การคลังเพื่อสังคม โดยเฉพาะเรื่อง Social Enterpise

Back to top button