ทริส คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ TIDLOR ที่ระดับ A แนวโน้ม Stable
ทริส คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ TIDLOR ที่ระดับ A แนวโน้ม Stable สะท้อนฐานทุนที่แข็งแกร่ง-รักษาสถานะผู้นำตลาดสินเชื่อทะเบียนรถ และธุรกิจนายหน้าประกันภัย
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 8.3 พันล้านบาทซึ่งรวมหุ้นกู้สำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) จำนวน 3 พันล้านบาทและไถ่ถอนภายใน 2 ปีของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ในการดำเนินกิจการและใช้ชำระหนี้เงินกู้เดิม
อันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการปรับเพิ่มขึ้นมา 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile SACP) ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ “a-” โดยการยกระดับสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งที่มีต่อสถานะของบริษัทซึ่งเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “AAA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” จากทริสเรทติ้ง) ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวโดยคำนึงถึงการที่บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา
อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในการเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันและธุรกิจนายหน้าประกันภัย นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่ทริสเรทติ้งใช้ประกอบการพิจารณาอันดับเครดิตยังรวมถึงการที่บริษัทมีฐานทุนที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่ดีจากการมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง รวมถึงการมีแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดในระดับหนึ่งจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค
ผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นไปในทิศทางที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ โดย ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 6.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.7% เมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อ ณ สิ้นปีก่อนหน้า บริษัทมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 3.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วเนื่องจากบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยมากขึ้นจากการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างมากและมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจประกันภัย
ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อที่ได้รับการควบคุมเป็นอย่างดีก็ช่วยให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายสำรองสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ลดลง สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมของบริษัทนั้นก็ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.19% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับ 1.66% ณ สิ้นปี 2563 โดยเป็นผลเนื่องมาจากสาเหตุ 2 ประการคือการลดลงของสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่เกิดขึ้นใหม่และฐานเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2564
ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 357% เมื่อเทียบกับระดับ 325% ณ สิ้นปี 2563
ฐานทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่เข้มแข็งและเป็นปัจจัยด้านบวกสำหรับอันดับเครดิต ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยอยู่ที่ระดับ 35.8% จากระดับ 22.6% ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งได้รับอานิสงส์จากเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์การเติบโตของพอร์ตสินเชื่อของบริษัทที่ระดับประมาณ 15% ต่อปีแล้ว ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทจะอยู่ในระดับที่เกินกว่า 33% ในระยะปานกลาง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาฐานทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและรักษาสถานะผู้นำในตลาดสินเชื่อทะเบียนรถเอาไว้ได้ ในขณะที่ยังคงมีผลประกอบการทางการเงินที่น่าพึงพอใจต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้อีกด้วย
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างเสถียรภาพทางธุรกิจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นโดยการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางการตลาดอย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังสามารถรักษาคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแรงและผลประกอบการทางการเงินที่ดีเอาไว้ได้ในขณะเดียวกัน การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการแข่งขันหรือคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 25%
นอกจากนี้ หากมุมมองของทริสเรทติ้งที่เกี่ยวกับระดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของบริษัทที่มีต่อกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีสาระสำคัญก็อาจเป็นสาเหตุให้มีการทบทวนอันดับเครดิตเพื่อสะท้อนมุมมองดังกล่าวอีกด้วย