GPI ทะยาน 16% เล็ง Q2 กำไรเด่น หลัง COD โรงขยะ “นครสวรรค์” ขายกฟภ. 9 MW

GPI ทะยาน 16% เล็ง Q2 กำไรเด่น หลัง COD โรงขยะ “นครสวรรค์” ขายไฟ กฟภ. ขนาด 9 MW หนุนรายได้-กำไรปีนี้โต ผลักดันผลการดำเนินงานเติบโตก้าวกระโดด เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (24 มี.ค. 2565) ราคาหุ้นบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI ณ เวลา 10:36 น. อยู่ที่ระดับ 2.16 บาท เพิ่มขึ้น 0.29 บาท หรือ 15.51% โดยทำจุดสูงสุดที่ 2.26 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 1.95 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 102.06 ล้านบาท

นายพีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ GPI ผู้นำสร้างสรรค์การจัดกิจกรรมให้บริการข่าวสาร ข้อมูล สาระ เพื่อสร้างประสบการณ์ และความบันเทิงที่น่าประทับใจตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ยานยนต์ เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯ เข้าร่วมลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะแปรรูป (Refuse Derived Fuel หรือ RDF) โดยเข้าถือหุ้น 25.75% ในบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะแปรรูปในจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักที่จะสร้างผลกำไรแก่บริษัทฯ อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ล่าสุดโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นที่เรียบร้อย ปัจจุบันได้เริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์หรือ Commercial Operate Date  (COD) แล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา

สำหรับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะแปรรูปดังกล่าว มีสัญญาเสนอขายแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทั้งสิ้น 9 เมกะวัตต์  (สัญญา 5 ปีและต่อครั้งละ 5 ปีโดยอัตโนมัติ) ซึ่งจะได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 3.50 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (Kwh) เพิ่มจากค่าไฟฐานเป็นระยะเวลา 7 ปี และบริษัทฯ ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน BOI เป็นเวลา 8 ปีนับจากวันที่เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าแก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

โดยบริษัทฯ คาดว่าผลการดำเนินงานในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตก้าวกระโดดและเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทฯ เนื่องจากการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะช่วยสร้างผลกำไรเข้ามาอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว เนื่องจากมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ.ที่แน่นอน จากปัจจุบันที่มีรายได้หลักจากการจัดงานบางกอก อินเตอร์ เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้รับการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานสากล คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการติดตั้งระบบและดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง ตามหลักการปฏิบัติที่จัดเตรียมไว้ เช่น อาคารโรงไฟฟ้าถูกออกแบบเป็นระบบปิด, ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องระบายมลพิษแบบต่อเนื่อง, ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการปล่อยสารมลพิษตามเกณฑ์มาตรฐาน, ควบคุมคุณสมบัติเชื้อเพลิง RDF ตามมาตรฐาน เป็นต้น  เพื่อให้ความมั่นใจแก่ชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโรงไฟฟ้า นอกจากนี้โรงไฟฟ้ายังมีส่วนช่วยกำจัดขยะชุมชนเพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“การลงทุนครั้งนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ จากปัจจุบันที่มีธุรกิจหลัก 3 กลุ่มคือ ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าด้านยานยนต์และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ธุรกิจรับจ้างพิมพ์และธุรกิจสื่อ ที่สร้างรายได้หลักแก่บริษัทฯ อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา” นายพีระพงศ์ กล่าว

Back to top button