ทองปิดร่วง 30 เหรียญ เหตุดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่งกดดันราคา

ทองปิดร่วง 30.3 เหรียญ เหตุดอลลาร์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่งกดดันราคา หลังเปิดเผยข้อมูลจ้างงานสหรัฐเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค.


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (1 เม.ย.) โดยถูกกดดันจากการที่สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้น หลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานในสหรัฐเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค.

โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 30.3 ดอลลาร์ หรือ 1.55% ปิดที่ 1,923.7 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวลง 1.6% ในรอบสัปดาห์นี้

ด้านสัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 47.9 เซนต์ หรือ 1.91% ปิดที่ 24.654 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 7.2 ดอลลาร์ หรือ 0.72% ปิดที่ 988.6 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 11.90 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 2,267.50 ดอลลาร์/ออนซ์

โดยสัญญาทองคำถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.33% แตะที่ 98.6320 ในวันศุกร์ ซึ่งการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

ทั้งนี้ ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อหลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

ด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 431,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. แม้ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 490,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7%

ทั้งนี้หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงาน FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 73.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมี.ค.

ด้านเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.8 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2564 และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 58.5 จากระดับ 57.3 ในเดือนก.พ. โดยดัชนี PMI ที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว

ส่วนสัญญาทองคำยังถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นด้วย ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 3 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.626% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.576% โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรดังกล่าวอยู่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.448% ขณะที่พันธบัตรอายุ 30 ปีอยู่ที่ระดับ 2.536%

นอกจากนี้ การร่วงลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์กดดันราคาสัญญาทองคำด้วย โดยสัญญาน้ำมันดิบสหรัฐร่วงลงต่ำกว่าระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในวันศุกร์

Back to top button