“ดาวโจนส์” พุ่งเกือบ 300 จุด ขานรับผลประกอบการแกร่ง
“ดาวโจนส์” พุ่งเกือบ 300 จุด ขานรับผลประกอบการแกร่ง โดย ณ เวลา 20.36 น. ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 35,446.60 จุด บวก 285.81 จุด หรือ 0.81%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์พุ่งเกือบ 300 จุดในวันนี้(21เม.ย.2565) โดยบรรยากาศการซื้อขายในตลาดได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นเทสลาโดย ณ เวลา 20.36 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 35,446.60 จุด บวก 285.81 จุด หรือ 0.81%
ด้าน ราคาหุ้นเทสลา อิงค์พุ่งขึ้นมากกว่า 9% หลังเปิดเผยผลประกอบการดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ส่วนราคาหุ้นอเมริกัน แอร์ไลน์ (AA) ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่ที่สุดของสหรัฐ พุ่งขึ้น 8% หลังเปิดเผยรายได้ในไตรมาสแรกสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และมีตัวเลขขาดทุนน้อยกว่าคาดการณ์ ขณะที่ทางสายการบินคาดว่าจะมีกำไรในปีนี้
ส่วนนักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยเศรษฐกิจโลกในการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในวันนี้
ก่อนหน้านี้ ประธานเฟดสาขาแอตแลนตาและชิคาโกแนะนำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
ตลาดการเงินคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมทั้งในเดือนพ.ค.และมิ.ย. หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็จะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 2,000 ราย สู่ระดับ 184,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 182,000 ราย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 58,000 ราย สู่ระดับ 1.417 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2513
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ลดลงสู่ระดับ 17.6 ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 21.9 จากระดับ 18.6 ในเดือนมี.ค.
ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่ อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกยังคงมีการขยายตัว