JMT ดีด 3% โบรกชูเป้า 80 บ. ลุ้นกำไรปีนี้โต 53%

JMT ดีด 3% ราคาแตะ 73.50 บ. โบรกเคาะราคาเป้า 80 บ. ลุ้นกำไรปีนี้โต 53% ทะลุ 2 พันลบ. หลังเข้าซื้อหนี้เสียเพิ่ม และเริ่มรับรู้รายได้ส่วนแบ่งร่วมทุน KBANK


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 พ.ค.2565) ราคาหุ้น บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ณ เวลา 11:10 น. อยู่ที่ระดับ 73.50 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท หรือ 2.80% โดยทำจุดสูงสุดที่ 74.50 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 72.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 365.19 ล้านบาท

โดยบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ (18 พ.ค.2565) เกี่ยวกับหุ้น JMT โดยมองเป็นบวกต่องานประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 จาก cash collection ที่มีโอกาสมากกว่าเป้า, ECL ที่จะลดลง และค่าใช้จ่ายประกันภัย COVID-19 ที่จะลดลง ซึ่งหนุนให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่เหลือของปีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า

โดยมีประเด็นสำคัญ คือ 1) คงเป้า cash collection ที่ 5-6 พันล้านบาท โดย cash collection ไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ตามปกติธุรกิจ และการติดตามหนี้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่คาดว่า Fully amortized จะไม่เร่งตัวขึ้น เนื่องจากบริษัทเร่ง Fully amortized ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วน Fully amortized ประมาณ 21% ของมูลหนี้เสียรวม 2) ECL คาดว่าจะลดลง ตามรายได้ค้างรับที่ลดลง และ cash collection ที่ดีขึ้น ซึ่งปกติบริษัทจะ conservative ในการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองช่วงครึ่งปีแรก 2565 ก่อนที่จะลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ตามคุณภาพ และประสิทธิภาพการติดตามหนี้ที่ดีขึ้น

รวมทั้ง 3) ธุรกิจประกันคาดว่าจะดีขึ้น เนื่องจากไม่มีการเคลียร์ประกันที่ไม่ดีเหมือนในอดีต และค่าใช้จ่าย เคลม COVID-19 (one-time) ในไตรมาส 1/2565 ที่ 40 ล้านบาทจะลดลงจากกรมธรรม์ COVID-19 มากกว่า 98% สิ้นสุดในเดือนเมษายน 2565 และ 4) เริ่มเห็นความชัดเจน JK Asset Management (JV กับ KBANK) ที่ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ถือหุ้น 50% คาดเริ่มดำเนินงานได้ในไตรมาส 3/2565 โดยจะมี D/E ประมาณ 3 เท่า และมูลหนี้ที่จะเข้าซื้ออยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่ง JV สนใจจะเข้าซื้อทั้ง secured และ unsecured loan

ทั้งนี้ ทางฝ่ายวิจัยคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 ที่ 2.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จาก 1) การเข้าซื้อหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาทต่อปี จากปีก่อนที่ 8.7 พันล้านบาท ทำให้ขนาดกองหนี้เสียขยายตัวเพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน หนุนโดย NPL ในระบบที่เพิ่มขึ้นจากการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้  2) ขนาดกองหนี้ Fully amortized ที่เพิ่มขึ้น โดยปกติบริษัทจะมีสัดส่วน Fully amortized ที่ 20-21% ของมูลหนี้รวม

รวมทั้ง 3) cost to income ปรับตัวลงเป็น 42% จากประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ที่สูงขึ้น และ 4) เริ่มรับรู้รายได้จากส่วนแบ่งจากการร่วมทุนกับ KBANK (JKAM) ขณะที่ 5) credit cost จะเพิ่มขึ้นเป็น 189 bps เพื่อสะท้อนการบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองแบบ conservative หรือคิดเป็น LLR/Investment ที่ 2% เท่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี

นอกจากนี้ ปรับคำแนะนำลงเป็น “ถือ” จากเดิมเป็น “ซื้อ” โดยยังคงราคาเป้าหมาย 80 บาท ประเมินว่าผลการดำเนินงานในระยะยาวจะขยายตัวในปี 2565-2567 EPS CAGR เพิ่มขึ้น 36% จากขนาดกองหนี้ เสียที่เพิ่มขึ้น, รายได้การบริหารหนี้ที่มั่นคง และดีขึ้นตามสัดส่วนกองหนี้เสีย Fully amortized ที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้ที่จะกลับมาดีขึ้นจากที่หดตัวในปี 2564

Back to top button