BYD พุ่งกระฉูด14% ลุ้นปี 65 “เทิร์นอะราวด์” รับรายได้ธุรกิจหลักทรัพย์โต 4 เท่า

BYD พุ่งกระฉูด14% ลุ้นปี 65 "เทิร์นอะราวด์" รับแรงหนุนรายได้ธุรกิจหลักทรัพย์โต 4 เท่า ฟากธุรกิจลีสซิ่ง-บัสไฟฟ้าสดใส เตรียมปรับโฉมขึ้นโฮลดิ้ง ภายในปี 66 หวังเปิดโอกาสลงทุนธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตสูงในอนาคต


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (23พ.ค.2565) ราคาหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน)  หรือ BYD ณ เวลา 11:14 น. อยู่ที่ระดับ 8.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.10 บาท หรือ 14.38% โดยทำจุดสูงสุดที่ 8.80 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 7.95 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 288.55 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้นางสาวออมสิน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้น” ออกอากาศทาง MCOT HD ช่อง 30 ว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมความพร้อมในการปรับโครงสร้างธุรกิจที่จะเปลี่ยนจากการเป็น “บริษัทหลักทรัพย์” สู่การเป็น “โฮลดิ้ง คอมพานี” (Holding Company) ภายในปี 2566 เนื่องจากการเป็นบริษัทหลักทรัพย์ จะต้องมีขั้นตอนที่จำกัดและต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของอย่างเคร่งครัด เพราะทำธุรกิจและได้ผลตอบแทนบนเงินของประชาชน ทำให้ไม่สามารถที่จะทำธุรกิจที่เสี่ยงมากได้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำกัดการเติบโตของบริษัท

โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมภายในองค์กรให้มีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งจะมีการจัดโครงสร้าง (structure) ให้เป็นรูปแบบ Holding ซึ่งจะสามารถเข้าไปลงทุนได้ ทั้งในธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจใหม่

ขณะที่ ส่วนของบริษัทย่อยนั้น ณ ตอนนี้คงไม่มีอะไรที่ใหม่ไปกว่าเดิม โดย BYD มีบริษัทย่อยคือ บริษัท ไทยสมายล์ บัส จำกัด (TSB) ที่มีอยู่เดิม แต่สิ่งที่จะเพิ่มเข้ามาคือ เส้นทางเดินรถ 71 สาย หลังจาก TSB ได้รับการคัดเลือกจากกรมการขนส่งทางบก ซึ่งในส่วนนี้จะยังอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ TSB เช่นกัน ยังเป็น Organic Growth หรือการเติบโตจากภายใน

นางสาวออมสิน กล่าวต่อว่า ในส่วนของธุรกิจเช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) นั้น ปัจจุบัน BYD มีดำเนินการผ่านบริษัทร่วม คือ บริษัท เอช อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) ซึ่ง BYD ถือหุ้น 49% โดยจะซื้อรถบัสไฟฟ้า (e-bus) แล้วปล่อยเช่าซื้อให้กับบริษัทลูกของ TSB ดังนั้นรายได้ที่ได้ คือ ส่วนต่างของดอกเบี้ย ซึ่งในส่วนของ ACE จะหาเงินทุนโดยการออกหุ้นกู้ หลังจากได้เงินทุนมา จะนำไปซื้อ e-bus เพื่อปล่อยเช่าซื้อต่อไป โดยธุรกิจดำเนินการได้ด้วยดี เนื่องจากบริษัทลูกเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้

ส่วนความร่วมมือของ BYD กับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX นั้น การตัดสินใจซื้อ e-bus จำเป็นต้องศึกษาบริษัทที่สามารถผลิตรถได้ตามจำนวนที่ต้องการ ด้วยคุณภาพ และราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดยังคงเป็นกลุ่ม EA โดยรู้จักกับผู้บริหาร EA จึงได้สานต่อในการทำธุรกิจร่วมกัน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้รถบัสไฟฟ้าล็อตเดิมได้รับมอบจำนวน 112 คัน ก็ซื้อมาจากลุ่ม EA เช่นกัน

นอกจากนี้ ในช่วงที่บริษัทยื่นประมูลเส้นทางเดินรถ 71 สายนั้น ได้มีการทำสัญญาจองซื้อ e-bus กับทาง NEX ไว้ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2564 จำนวน 700 คัน เพื่อยืนยันว่าบริษัทมีศักยภาพสามารถบรรจุรถตามเส้นทางต่าง ๆ ได้

“ความแตกต่างระหว่าง TSB ของ BYD กับบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด ที่ EA เข้าซื้อหุ้นนั้น ในสัมปทานการเดินรถ 1 สาย ควรมีผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ซึ่งกรมขนส่งทางบกปฏิรูปการเดินรถ จากเดิมขสมก.ได้รับสัมปทานการเดินรถ แต่ปัจจุบันขสมก.จะต้องได้รับสิทธิการเดินรถจากกรมขนส่งทางบก ดังนั้นทั้งบริษัท ไทยสมายบัส และบริษัท สมาร์ทบัส นับเป็น Layer เดียวกับขสมก. ดังนั้นเมื่อมีการแจกสายการเดินรถ จึงมีผู้ประกอบการ 1 รายในการให้บริการประชาชน จะไม่มีการทับซ้อนกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลคือ ตั๋วเดียวแบบเหมาจ่าย จะขึ้นรถสายอะไรก็ได้ ทำให้เป็นประโยชน์สวัสดิการประชาชน” นางสาวออมสิน กล่าว

นางสาวออมสิน กล่าวว่า BYD ตั้งเป้าหมายในปี 2565 ผลประกอบการจะกลับมาเทิร์นอะราวด์ เนื่องจากในปี 2566 โครงสร้างจะเปลี่ยนเป็น Holding จึงต้องการให้โครงสร้างของบริษัทมีความแข็งแรง โดยในด้านธุรกิจหลักทรัพย์ตั้งเป้ารายได้เติบโต 4 เท่า และต้องเริ่มมีกำไรแล้ว ซึ่งยังไม่รวมผลประกอบการที่มาจากธุรกิจ e-bus ที่บริษัทถือผ่านบริษัทร่วมสัดส่วน 49% ตั้งเป้าหมายหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนน่าจะสร้างรายได้ 1 คัน ประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อคันต่อปี ดังนั้น 71 สายเดินรถ จะมีรถที่บรรจุขั้นต่ำทั้งหมด 758 คัน และขั้นสูงจะอยู่ที่กว่า 2,000 คัน ซึ่งภายในปีนี้จะต้องมี e-bus ขั้นต่ำบรรจุให้ครบตามเงื่อนไขสัญญาของผู้ได้รับสัมปทาน

อย่างไรก็ตาม ในการจัดโครงสร้างธุรกิจนั้นจำเป็นต้องมีใบอนุญาต เงินทุน บุคลากร  และสินทรัพย์ ดังนั้นในอนาคตจะมีการผนวกรวมกับดำเนินธุรกิจที่สามารถระดมทุนได้นั้น บริษัทมองว่าหากสามารถทำได้จะเป็นประโยชน์กับบริษัท ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณา หากสามารถดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าวได้ก็จะดี แต่คงต้องใช้ระยะเวลา

Back to top button