BYD แรลลี่ 3 วันพุ่ง 40% รับแผนเพิ่มทุน PP ขายพันธมิตร ลุยธุรกิจเดินรถ

BYD แรลลี่ 3 วันพุ่ง 40% รับออกหุ้นเพิ่มทุน PP เตรียมขายพันธมิตร 31.32% ที่ 7.062 บาท/หุ้น หวังนำเงินลุยธุรกิจเดินรถตามแผน คาดได้ข้อสรุป 30 มิ.ย.นี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (25พ.ค.2565) ราคาหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ณ เวลา 11:08 น. อยู่ที่ระดับ 10.70บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท หรือ 7.00% โดยทำจุดสูงสุดที่ 10.90 บาท และทำจุดต่ำสุดที่  10.30บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย  105.56 ล้านบาท

ทั้งนี้ราคาหุ้น BYD ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง 3 วันติดนับตั้งแต่ราคาหุ้นยืนที่ระดับ 7.65 บาท เมื่อวันที่  20 พ.ค. 2565 จนถึงล่าสุด คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 39.86%

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 มีมติเห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 พิจารณาอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท 9,315 ล้านบาท จาก 18,196,712,220 บาท เป็น 27,511,712,220 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 1,863 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท เพื่อรองรับการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) และรองรับการปรับสิทธิในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 6

โดยบริษัทจะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,313 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 31.32% ของทุนชำระแล้วของบริษัท กำหนดราคา 7.062 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 9,272,406,000 บาท โดยจะเสนอขายให้แก่ผู้สนใจลงทุนที่ส่งเสริมเกื้อกูลธุรกิจของ BYD, บริษัท เอช อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) (บริษัทร่วมที่ BYD ถือหุ้น 49%) และบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด (TSB) (ACE ถือหุ้นอยู่ 100%) โดยจะเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ลงทุนที่สนใจ โดยเมื่อได้รับความชัดเจนแล้วจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทอีกครั้งหนึ่งเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2565

นอกจากนี้ บริษัทจะจัดสรรหุ้นจำนวน 550 ล้านหุ้น เพื่อรองรับการปรับสิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบล.บียอนด์ ครั้งที่ 6 (BYD-W6) ด้วยเหตุบริษัทได้ออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ PP

พร้อมกันนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทยังมีมติอนุมัติแต่งตั้ง นางสาวออมสิน ศิริ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร แทนนายไพสิฐ แก่นจันทน์ ที่ลาออกไป โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป

ทางด้านนางสาวออมสิน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD กล่าวว่า BYD เป็นบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งมีบริษัทร่วม ไปลงทุนในกิจการเดินรถโดยสาร

โดยล่าสุดบริษัทได้เข้าร่วมประมูลรถเมล์ใหม่ 70 กว่าสาย และได้รับการคัดเลือก 71 สาย ภายใต้บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของบริษัทร่วมของ BYD เมื่อได้มา 71 สาย บริษัทจึงต้องมาดูว่าภายใต้เงื่อนไขของใบอนุญาตเหล่านั้น กำหนดให้ต้องบรรจุรถเข้าไปภายใน 180 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต บริษัทจึงไปยื่นขอรับใบอนุญาตเบ็ดเสร็จทั้งหมดต้องเริ่มนำรถเข้าไปให้บริการประชาชนภายในเดือน ต.ค. 2565 ตามจำนวนขั้นต่ำ ซึ่งจำนวนขั้นต่ำของ 71 สาย คือ 758 คัน ส่วนจำนวนขั้นสูง คือ 2,130 คัน

ดังนั้น เมื่อจำนวนรถที่ต้องใช้สูงจึงต้องมีการวางแผนว่าจะจัดหาเงินจากที่ใด เพราะฉะนั้นความต้องการใช้เงินจึงไล่ขึ้นมาตั้งแต่จากบริษัทลูกขึ้นมา BYD ในฐานะเป็นบริษัทแม่ จึงต้องพิจารณาเพิ่มทุนดังกล่าว

นอกจากสายใหม่ 71 สายแล้ว สายเก่า 10 สาย ยังต้องการใช้เงินลงทุนเช่นกัน โดยใน 10 สายมีการบรรจุรถไฟฟ้าไปแล้ว 8 สาย และบรรจุไปเพียง 112 คัน จากเป้าหมาย 337 คัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการจัดหารถ

สำหรับต้นทุนของการใช้รถที่เป็นเชื้อเพลิงต่าง ๆ กับรถไฟฟ้านั้น สถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงมากจนกระทั่งหลายรายออกมาให้ข้อมูลว่า ภาระจากต้นทุนค่าน้ำมันที่แพงขึ้นทำให้เริ่มเดินต่อกันไม่ไหว ในขณะที่ค่าไฟฟ้าแม้จะมีปรับตัวขึ้นบ้าง แต่เมื่อเทียบอัตราก็ยังขึ้นน้อยกว่าน้ำมัน ฉะนั้น BYD ค่อนข้างดีใจที่นำรถอี-บัสมาใช้แทนรถประเภทเดิม เป็นการตัดสินใจที่ถูกเวลา

ทั้งนี้ เมื่อนำอี-บัสมาเริ่มวิ่งตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 ก็ได้เห็นผลประกอบการที่สะท้อนผลของการที่บริษัททำการศึกษามาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ ขณะที่ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก็ประหยัดไปได้มาก โดย 5 เดือนแรกเห็นสัญญาณแล้วว่าบางบริษัทย่อยเริ่มเห็นกำไรมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งจะเห็นว่ารูปลักษณ์ของรถจะแตกต่างจากรายอื่น ด้านในสะอาด ไม่มีเสียงรบกวน มีอุปกรณ์ชาร์จมือถืออำนวยความสะดวกให้ ขณะที่อัตราค่าโดยสารก็ไม่แพงไปกว่าเจ้าอื่น เป็นอัตราที่ทางรัฐบาลควบคุม

นางสาวออมสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า โปรเจกต์ที่จะทำต่อหลังจากได้จำนวนสายรถเพิ่ม คือ ใช้ตั๋วร่วม หมายถึงตั๋วที่สามารถใช้ได้ตลอดไม่ว่าจะเปลี่ยนรถกี่สาย โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งหากบริษัททำสำเร็จและนำออกมาใช้ได้ จะเป็นประโยชน์กับผู้โดยสาร ดังนั้น ในเงินลงทุนจำนวน 9,000 กว่าล้านบาท จะมีโปรเจกต์ตั๋วร่วมอยู่ในนี้ด้วย

สำหรับการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ PP นั้น จะสามารถเปิดเผยได้ภายหลังประชุมบอร์ดวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ว่าใครจะเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจไปด้วยกัน ซึ่งเบื้องต้นมี 4-5 รายที่สนใจ

ส่วนการเพิ่มทุน RO ของบริษัท หลัก ๆ นำมาใช้ในธุรกิจหลักทรัพย์ เช่น ปรับปรุงระบบ ลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเปิดตัวเดือนหน้า ขณะที่การเพิ่มทุน PP เงินก้อนใหญ่จะนำมาใช้สำหรับธุรกิจเดินรถ เพื่อให้เป็นไปตามแผนทางธุรกิจของบริษัท

Back to top button