HENG บวกแรง 5% คงเป้าพอร์ตสินเชื่อปีนี้โต 30% แตะ 1.2 หมื่นลบ.
HENG บวกแรง 5% คงเป้าพอร์ตสินเชื่อปีนี้โต 30% แตะ 1.2 หมื่นลบ. เร่งขยายสาขาเพิ่มอีกกว่า 100 แห่ง พร้อมลุยออกหุ้นกู้วงเงิน 2 พันลบ. รองรับการขยายธุรกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25พ.ค.2565) ราคาหุ้น บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG ณ เวลา 14:50 น. อยู่ที่ระดับ 3.72 บาท เพิ่มขึ้น 0.18 บาท หรือ 5.08% โดยทำจุดสูงสุดที่ 3.78 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 3.54 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 119.55 ล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้(21 เม.ย.65) นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HENG เปิดเผยว่า ในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ของเฮงลิสซิ่งฯ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติแผนการจ่ายเงินปันผลจากงวดผลการดำเนินงานปี 2564 ในอัตรา 0.01 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 12 พ.ค. 2565 พร้อมอนุมัติแผนการออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายธุรกิจให้บริการสินเชื่อ
อีกทั้งเปิดกลยุทธ์ขยายพอร์ตสินเชื่อปี 2565 โดยตั้งเป้าหมายสินเชื่อปีนี้เติบโตที่ระดับ 25-30% เป็นสินเชื่อใหม่ประมาณ 8,600 ล้านบาท ส่งผลให้สิ้นปีนี้พอร์ตสินเชื่อจะอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 9,200 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อใหม่ปีนี้ มาจากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 55-60% สินเชื่อเช่าซื้อ 30-35% นาโนไฟแนนซ์ ไม่เกิน 10% และที่ดิน-บ้านไม่เกิน 3% ในขณะที่ปี 2566 ตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อ 30% ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 14,000-15,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านระบบดิจิทัล (Digital Personal Loan) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของบริษัทในการขยายฐานลูกค้าผลักดันการเติบโตในระยะยาว ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สิ้นปีนี้พยายามคุมให้อยู่ที่ระดับ 3.1% จากสิ้นปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 3.4% พร้อมตั้งเป้าหมายค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ไว้ที่ 170-180% หากสถานการณ์เศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดโควิด-19 ดีขึ้น บริษัทพร้อมที่จะปรับระดับการตั้งสำรองเพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเอื้อต่อการขยายธุรกิจต่อไป
ด้านสาขาบริษัทมีแผนเร่งขยายสาขาเพิ่มอีกกว่า 100 แห่ง เน้นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ให้แล้วเสร็จภายในต้นไตรมาส 2/2565 จากเดิมเมื่อสิ้นปี 2564 มีสาขาทั้งหมด 529 แห่ง ส่งผลให้จะมีสาขารวมทั้งหมดกว่า 630 สาขาทั่วประเทศ เพิ่มโอกาสนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในแต่ละท้องถิ่น รองรับการขยายตัวทางธุรกิจอย่างรวดเร็วตามแผน