TRU ซิลลิ่ง! หลังรัฐคลอดภาษี “EV” ลุ้นออเดอร์ผลิตชิ้นส่วนทะลัก

TRU ซิลลิ่ง! นลท.เก็งกำไร หลังรัฐคลอดภาษี "EV" ลุ้นออเดอร์ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าทะลัก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (6 มิ.ย.2565) ราคาหุ้น บริษัท ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TRU ณ เวลา 15:01 น. อยู่ที่ระดับ 6.65 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือ 29.13% โดยทำจุดสูงสุดที่ 6.65 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 5.60 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 102.61 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ TRU เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดกำไรสุทธิปี 2565 น่าจะเติบโตกว่าปีก่อน เนื่องจากไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 72.06 ล้านบาท ทำได้ใกล้เคียงกับกำไรทั้งปี 2564 ที่ 78.43 ล้านบาทไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อให้มีการเปิดประเทศ รวมถึงบริษัทเน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่รายได้ปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 25% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,019.31 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกทำรายได้แล้ว 679.81 ล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 2/2565 ก็น่าจะเติบโตต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น ช่วยหนุนความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์ให้สูงขึ้นด้วย ทั้งการขายในประเทศและการส่งออก ส่งผลดีต่อยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

อีกทั้งหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ยอดขายของเครื่องจักรกลทางการเกษตรก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับในปัจจุบันราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นมากส่งผลให้มีความต้องการเครื่องจักรกลทางการเกษตรมากขึ้นตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุด บริษัทก็ได้รับการยืนยันคำสั่งซื้อรถหัวขุดตักรุ่นใหม่เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นในปี 2566

นอกจากนั้น บริษัทยังได้รับคำสั่งผลิตชิ้นส่วนรูปแบบโมดูลาร์จากลูกค้าญี่ปุ่นเพื่อส่งไปประกอบในโรงงานต่างประเทศ อย่างไรก็ตามการรับจ้างประกอบรถโดยรวมก็มีออดอร์มากขึ้น จากจำนวนรถที่มีมากขึ้น บริษัทยังได้รับงานจ้างพ่นสีตัวถังรถยนต์ให้กับค่ายรถยนต์ใหญ่ของญี่ปุ่นในประเทศไทย ปริมาณงาน 1,000-2,000 คัน/เดือน

พร้อมกันนั้นบริษัทยังขยายไปสู่การรับจ้างประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น EV-Tuktuk, EV-minibus โดยมีออเดอร์ในมือแล้วราว 700 คัน รวมถึงยังมีโอกาสในการได้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ EV ในอนาคต นอกจากนี้ยังมองไปถึงการร่วมมือกับพันธมิตรในการพัฒนารถ EV ด้วยเพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ

สำหรับรถ Transformer ของไทยรุ่ง ก็มีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า เช่น รถหุ้มเกราะ รวมถึงยังพยายามส่งออกไปยังต่างประเทศ หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย คาดว่าจะสร้างยอดขายได้ดีขึ้น

ในปีนี้เราค่อนข้างมั่นใจในผลประกอบการของบริษัท เนื่องจากภาพรวมปี 2565 ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังคงเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไว้ที่ 1.8 ล้านคัน เติบโตขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2564 แบ่งเป็น ยอดผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน และการผลิตเพื่อขายในประเทศ 0.8 ล้านคัน อีกทั้งเรายังมีการขยายไปสู่การรับจ้างประกอบรถ EV โดยเฉพาะ EV-Tuktuk, EV-minibus และอยู่ระหว่างศึกษาขยายไปสู่รถบรรทุกขนาดเล็กเพื่อการขนส่ง ทำให้คาดว่า EV จะเป็นตัวพลิกผันให้ TRU ได้” นายสมพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณกลางสัปดาห์นี้ (6-10 มิ.ย. 2565) ซึ่งจะส่งผลให้การนำเข้า “รถไฟฟ้า” เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีพิกัดอัตราภาษีที่ชัดเจนแล้ว

โดยภายหลังจากโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์พัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

Back to top button