ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดหลังเปิดประมูล 4G ดันยอดใช้บริการข้อมูลโตกว่า 20%
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดหลังเปิดประมูล 4G ยอดใช้บริการข้อมูลจะเติบโตกว่า 20% อีกทั้งคาดว่าจะส่งอานิสงส์ทางอ้อมต่อธุรกิจบริการอื่นๆ เช่น บริการบันเทิงออนไลน์ การศึกษาออนไลน์-การบริการทางการแพทย์แบบออนไลน์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หลังการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz คาดว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตน่าจะเร่งขยายโครงข่ายและทยอยเริ่มเปิดให้บริการ 4G ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2559 เพื่อชิงความได้เปรียบทางการตลาดและความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี
อย่างไรก็ดี ยังมองว่าในระยะแรก โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 สำหรับการเปิดให้บริการ 4G ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เปลี่ยนมาใช้บริการ 4G มากนัก เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังถือครองสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่รองรับเพียงแค่การใช้บริการ 3G โดยเฉพาะผู้บริโภคในต่างจังหวัดที่เพิ่งเปลี่ยนระบบการใช้งานจาก 2G มาเป็น 3G ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวอาจยังไม่เปลี่ยนผ่านสู่การใช้บริการ 4G ในระยะแรก
โดยการเปิดให้บริการ 4G ในคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz จะก่อให้เกิดอานิสงส์โดยตรงต่อธุรกิจหลากหลาย โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านโทรคมนาคม รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ ธุรกิจวางโครงข่ายจะได้รับอานิสงส์จากเงินลงทุนกว่า 158,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 2 ปี ในทางเทคนิค การให้บริการ 4G สามารถให้บริการบนโครงข่ายร่วมกับ 3G จึงทำให้คาดได้ว่า การลงทุนด้านโครงข่าย 4G ในระยะแรก ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตจะทำการอัพเกรดประสิทธิภาพการให้บริการจากโครงข่าย 3G ที่มีอยู่เดิม เพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการ 4G และ 3G พร้อมกัน ประกอบกับเร่งขยายโครงข่ายเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีการใช้งานสื่อสารข้อมูลที่หนาแน่น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และตามหัวเมืองใหญ่
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงปี 2559 – 2560 จะมีเงินสะพัดสำหรับการลงทุนขยายโครงข่ายเพิ่มเติม รวมถึงเงินลงทุนอัพเกรดโครงข่ายเดิมโดยรวมประมาณ 158,000 ล้านบาท
สำหรับตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คาดยอดรายได้การให้บริการข้อมูลทะลุ 130,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้เข้าใช้โมบายบรอดแบนด์ที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ภาพรวมตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
โดยเฉพาะบริการด้านข้อมูล มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานว่าการเปิดให้บริการ 4G จะอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559 มูลค่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 219,841 – 223,064 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 3.3 – 4.8 จากปี 2558 ที่คาดว่าตลาดโดยรวมจะมีมูลค่าอยู่ที่ 212,816 ล้านบาท โดยได้รับแรงผลักดันหลักจากการใช้บริการข้อมูลที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่า ในปี 2559 ตลาดบริการข้อมูลจะมีมูลค่าสูงถึง 131,652 – 133,693 ล้านบาท เติบโตราวร้อยละ 20.6 – 22.5 จากปี 2558 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 109,121 ล้านบาท
ขณะที่มูลค่าตลาดด้านบริการเสียงในปี 2559 คาดว่า จะมีมูลค่าประมาณ 88,189 – 89,372 ล้านบาท หดตัวราวร้อยละ 13.8 – 15.0 จากปี 2558 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 103,695 ล้านบาท อันเนื่องมาจากผู้บริโภคไทยมีความนิยมใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารกันมากขึ้น
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากการที่มีผู้เข้าใช้บริการข้อมูลเพิ่มมากขึ้นภายหลังจากการเกิด 4G ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้โอกาสจากการเพิ่มการให้บริการต่างๆ ด้วยการต่อยอดสู่บริการออนไลน์บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีการรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งต้องการความเร็วและความเสถียรในการรับส่งข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการบันเทิงบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Entertainment) ที่มีความคมชัดและความละเอียดสูงอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการดูหนังหรือวิดีโอออนไลน์แบบ HD บนสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่การให้บริการ Mobile Cloud Computing อย่างการให้บริการเก็บข้อมูลหรือรูปภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้ ตลาดสมาร์ทโฟน คาดว่า มูลค่าเติบโตต่อเนื่องราวร้อยละ 3.6 พุ่งแตะระดับ 92,540 ล้านบาท โดยปัจจุบัน ผู้ผลิตโดยส่วนใหญ่ มีการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถรองรับโครงข่าย 4G และน่าจะเพิ่มมากขึ้นหลังจากการเปิดให้บริการ 4G ทั้งนี้ แม้ว่ากำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่อาจจะยังฟื้นตัวไม่มากนัก เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยกดดันต่อเนื่องต่อตลาดสมาร์ทโฟนในช่วงปี 2558 – 2559
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยี 4G ที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในการออกโปรโมชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ส่วนลด หรือการเลือกผ่อนชำระเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีดอกเบี้ย เป็นต้น รวมถึงการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ด้วยฟังก์ชั่นที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น กล้องหน้าที่มีความละเอียดและคมชัดสูง รองรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวหรือการถ่ายภาพในน้ำ เป็นต้น
อีกทั้ง ราคาสมาร์ทโฟนมีหลายระดับและอยู่ในระดับราคาที่ผู้บริโภคโดยทั่วไปสามารถจับจ่ายได้ จึงน่าจะเป็นแรงผลักดันหลักให้ผู้บริโภคบางส่วน โดยเฉพาะผู้บริโภคระดับกลางถึงระดับบนที่ยังพอมีกำลังซื้อ ตัดสินใจซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ได้ง่ายขึ้น รวมถึงผู้บริโภคบางส่วนที่จำเป็นต้องเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ เนื่องจากสมาร์ทโฟนเครื่องเดิมไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ
สำหรับในระยะถัดไป ซึ่งจะมีการให้บริการทั้ง 3G และ 4G พร้อมกันในตลาดนั้น โดยถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยี 4G เกิดขึ้นใหม่ แต่เทคโนโลยี 3G ยังคงเป็นทางเลือกในการใช้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงแบบไร้สายที่สำคัญอยู่ดังที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการผลิตสมาร์ทโฟนในตลาด อาจต้องคำนึงถึงการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนที่สามารถรองรับการใช้บริการทั้ง 3G และ 4G ในเครื่องเดียว ในระดับราคาที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดสมาร์ทโฟนไทยในปี 2559 จะมียอดจำหน่ายประมาณ 16.7 – 17.0 ล้านเครื่อง ขยายตัวราวร้อยละ 7.1 – 9.0 จากปี 2558 ที่คาดว่าจะมียอดจำหน่ายประมาณ 15.6 ล้านเครื่อง สำหรับในด้านมูลค่าตลาดสมาร์ทโฟนไทยในปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 92,540 – 93,660 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 3.6 – 4.9 จากปี 2558 เนื่องจากคาดว่าจะมียอดขายสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนเป็นแรงผลักดันหลักตามที่กล่าวมาข้างต้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายธุรกิจที่จะได้รับอานิสงส์จาก 4G โดยทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) หรือการผลิตซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ที่เป็นการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจดังกล่าวในยุค 4G ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รูปแบบของการประกอบธุรกิจในยุค 4G อาจไม่มีความแตกต่างจากรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 3G อย่างชัดเจนมากนัก แต่จะเป็นการเอื้อสำหรับการต่อยอดทางธุรกิจในรูปแบบที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากการใช้โมบายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วและเสถียรภาพที่มากขึ้น ซึ่งการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นนั้น ย่อมเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้มีผู้เข้าใช้บริการในธุรกิจต่างๆ ได้มากขึ้น และส่งผลให้มูลค่าตลาดของธุรกิจเหล่านั้นมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
โดยตลาด E-Commerce น่าจะขยายตัวกว่าร้อยละ 14.8 มูลค่าพุ่งสู่ระดับ 225,000 ล้านบาท การเปิดให้บริการ 4G ซึ่งมีความเร็วและความเสถียรที่เพิ่มขึ้น นับได้ว่าเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการยกระดับการให้บริการบนอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย รวมไปถึงการซื้อขายสินค้าออนไลน์ให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการดาวน์โหลดภาพตัวอย่างสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ในระยะเวลาที่สั้นลง นำพาให้เกิดแรงกระตุ้นและแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเข้ามาซื้อของออนไลน์ได้มากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ E-Commerce ก็สามารถทำรายการส่งเสริมการขายในรูปแบบที่ดึงดูดความน่าสนใจของผู้บริโภคได้มากขึ้นเช่นกัน เช่น การอัพโหลดวิดีโอหรือรูปภาพที่ผู้บริโภคสามารถดูได้หลายมุมมอง เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ E-Commerce ควรคำนึงถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารจัดการข้อมูลภายในให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับการใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจนับสินค้าคงคลัง ระบบจัดเก็บข้อมูลคำสั่งซื้อของลูกค้า ระบบติดตามสินค้าระหว่างการขนส่ง เป็นต้น
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2559 มูลค่าตลาด E-Commerce จะพุ่งสูงแตะระดับ 230,000 – 240,000 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 15 – 20 จากปี 2558 ที่คาดว่ามูลค่าตลาด E-Commerce จะอยู่ประมาณ 200,000 ล้านบาท หรือขยายตัวราวร้อยละ 16.3 จากปี 2557
ส่วนตลาดผลิตซอฟต์แวร์เพื่อการบริโภคในประเทศ จะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 14.2 พุ่งสู่ระดับ 65,000 ล้านบาท ในยุคเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน การพัฒนาซอฟต์แวร์โดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งแบบมีสายและไร้สาย ไม่ว่าจะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือแม้แต่การซื้อขายออนไลน์ เป็นต้น
ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของตลาดผลิตซอฟต์แวร์ในไทย ทั้งที่เป็นซอฟต์แวร์เพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้งานในบริษัท ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว คาดว่า จะเพิ่มสูงขึ้นภายหลังจากการเปิดให้บริการ 4G เนื่องจากมีความเร็วและเสถียรภาพในการสื่อสารที่เพิ่มขึ้น และน่าจะทำให้ธุรกิจต่างๆ หันมาพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน เช่น นักข่าวสามารถบันทึกภาพวิดีโอเหตุการณ์สำคัญด้วยความคมชัดและมีความละเอียดสูงจากสมาร์ทโฟน พร้อมทั้งสามารถเชื่อมต่อไปยังสถานีเพื่อออกอากาศแบบสดได้ เป็นต้น
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559 ตลาดผลิตซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในประเทศจะมีมูลค่าถึง 65,290 – 67,600 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 13.3 – 17.3 จากปี 2558 ที่คาดว่าตลาดผลิตซอฟต์แวร์จะมีมูลค่าประมาณ 57,640 ล้านบาท ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 14.3 จากปี 2557
นอกเหนือจากธุรกิจต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น คาดว่าการเกิด 4G จะส่งอานิสงส์ทางอ้อมต่อธุรกิจบริการอื่นๆ อีกด้วย เช่น บริการบันเทิงออนไลน์ การศึกษาออนไลน์ และการบริการทางการแพทย์แบบออนไลน์ เป็นต้น