PIMO บวก 4% ลุ้น Q2 โตดี วางเป้าปีนี้รายได้พุ่ง 1.2 พันลบ. รับออเดอร์ทะลัก

PIMO บวก 4% ลุ้น Q2/65 โตดี วางเป้าปีนี้รายได้พุ่ง 1.2 พันลบ. รับออเดอร์ทะลักถึงส.ค. ทุ่มงบ 85 ล้าน ลุยขยายกำลังผลิต


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(20 มิ.ย.65) ราคาหุ้นบริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO ณ เวลา 15 :51 น. อยู่ที่ระดับ 3.76 บาท บวก 0.14 บาท หรือ 3.87% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 79.92 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้นายวสันต์ อิทธิโรจนกุล กรรมการผู้จัดการ PIMO กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าจะมียอดขายประมาณ 1,200 ล้านบาท จากปีก่อนที่มียอดขายประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/2565  มียอดขายแล้วกว่า 300 ล้านบาท และในช่วง 4 เดือนแรกสามารถทำยอดขายได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ทุกเดือน ขณะเดียวกันบริษัทมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ถึงเดือน ส.ค. 2565

โดยบริษัทผลิตมอเตอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศ มอเตอร์กำลังสำหรับภาคอุตสาหกรรม เครื่องสูบน้ำ ปั๊มหอยโข่ง และมอเตอร์สำหรับสระและสปา มีสัดส่วนการขายภายในประเทศ 40% และขายในต่างประเทศ 60% ซึ่งมีการส่งออกสินค้าไปประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์, ยุโรป (เช็ก/เนเธอร์แลนด์/ตุรกี), กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (ดูไบ/การ์ตา/คูเวต/อิหร่าน), เอเชีย (ฮ่องกง/ญี่ปุ่น/มาเลเซีย/ศรีลังกา/อียิปต์/สิงคโปร์/บังกลาเทศ/ฟิลิปปินส์) และประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา/เวียดนาม/เมียนมาหรือพม่า)

ขณะที่แนวโน้มในช่วงไตรมาส 2/2565 จะพยายามให้ดีกว่าไตรมาสก่อน แม้ว่าจะมีช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ และพนักงานของบริษัทป่วยติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 200 คน จากพนักงานทั้งหมด 510 คนก็ตาม แต่ในเดือน เม.ย. ก็ยังทำยอดขายได้ดี สำหรับในเดือน พ.ค. ผู้ป่วยลดลงเหลือประมาณ 8 คน ประกอบกับมีการเพิ่มเครื่องจักร และยังสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องตามออเดอร์

ด้านแผนการลงทุนในปี 2565 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต ด้วยงบลงทุน 85 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ใช้ในอาคารส่วนขยายกำลังการผลิตมอเตอร์ AC เพิ่มกำลังการลิตแผนกแกน และเพิ่มกำลังการผลิตแผนกโรเตอร์ ,2. ลงทุนติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ เพิ่มเติมตึก BLDC ด้วยงบลงทุน 8.3 ล้านบาท ,3. ลงทุนหุ่นยนต์ Automation 3 ตัว และเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 1 เครื่อง มีโรบอตหยิบชิ้นงานแผนกฝา 2 ตัว, โรบอตหยิบชิ้นงานแผนกแกน 1 ตัว และเครื่องฉีด Rotor Auto 1 เครื่อง

4.ลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมในส่วนของมอเตอร์ AC เช่น เครื่องฉีดอะลูมิเนียม 1 เครื่อง, เครื่อง CNC 1 เครื่อง, เครื่องกลึงเปลือก 1 เครื่อง, เครื่องพันลวด 2 เครื่อง และเครื่องมัดเชือก 2 เครื่อง และ 5. ลงทุนในส่วนของมอเตอร์ AC อย่างเครื่อง CNC กลึงแกนพร้อมเจียร์, กลึงแกน Auto และเครื่องฉีดแนวตั้ง

ทั้งนี้ บริษัทมีการลงทุนเพิ่มเพื่อลดปัญหาคอขวด และลดการเพิ่มบุคลากร โดยสามารถเพิ่มกำลังกำลังการผลิตมอเตอร์เครื่องปรับอากาศและปั๊มน้ำ มอเตอร์กำลัง เป็น 120,000 ลูกต่อเดือน จากปัจจุบันอยู่ที่ 85,000-90,000 ลูกต่อเดือน และเพิ่มกำลังการผลิตกลุ่มมอเตอร์ปั๊มน้ำ (Axial-Flux pool : BLDC) เป็น 280-340 ลูกต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 140 ลูกต่อวัน เพื่อรองรับออเดอร์ของลูกค้า นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนามอเตอร์รถ EV สำหรับรถจักรยานยนต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและมียอดขายเริ่มเข้ามาในช่วงปลายปี 2565

Back to top button