SCB EIC ประเมินธุรกิจรับอานิสงส์-รับผลกระทบเชิงลบจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB มองหากแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของรัฐมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท แล้วเสร็จจะทำให้ศักยภาพโครงสร้างไทยทัดเทียมนานาประเทศ โดยกลุ่มรับเหมาฯ จะได้รับอานิสงค์เป็นกลุ่มแรก ส่วนธุรกิจรถบรรทุก-รถโดยสารระหว่างเมืองอาจได้รับผลกระทบเชิงลบ เนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าการขนส่งทางรางและเรือและช้ากว่าการขนส่งทางอากาศ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าหากแผนการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐ มูลค่ากว่า 2.2 ล้านล้านบาทแล้วเสร็จจะทำให้ศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของไทยทัดเทียมกับนานาประเทศ เช่น สัดส่วนความยาวเส้นทางรถไฟฟ้าต่อประชากรในกรุงเทพฯ จะเพิ่มเป็น 23 กิโลเมตร/ล้านคนซึ่งใกล้เคียงกับเมืองใหญ่อย่างโตเกียวที่มีความสะดวกสบายในการเดินทางมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หรืออัตราส่วนความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินระหว่างประเทศต่อจำนวนผู้โดยสารในปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 0.8 ในปัจจุบันเป็น 1.6 ซึ่งจะสูงกว่า มาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
โดยในระยะเริ่มต้นของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ SCB EIC ประเมินว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างจะเป็นธุรกิจกลุ่มแรกที่ได้อานิสงส์จากการพัฒนาก่อนธุรกิจกลุ่มอื่นๆ โดยมูลค่างานก่อสร้างในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเหล่านี้จะมีสัดส่วนประมาณ 50%-60% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ซึ่งจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้รับเหมารายใหญ่ที่เคยมีประสบการณ์เนื่องจากโครงการเหล่านี้ค่อนข้างซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีสูง
อย่างไรก็ดีผู้รับเหมารายย่อยก็มีโอกาสรับช่วงงานก่อสร้างต่อจากผู้รับเหมาหลักในส่วนที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า เช่น การก่อสร้างและตกแต่งสถานีรถไฟ เป็นต้น อีกทั้ง กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างหลักย่อมได้รับผลพลอยได้ตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในการก่อสร้างรถไฟฟ้า 4 เส้นทางใหม่ (เขียว ส้ม ชมพู และเหลือง) อีไอซีประเมินว่าจะมีการใช้เหล็กอย่างน้อย 280,000 ตันหรือคิดเป็นมูลค่า 5,600 ล้านบาท และปูนซีเมนต์อย่างน้อย 867,000 ลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็นมูลค่า 1,560 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางรางแล้วเสร็จจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองและสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ โดยการพัฒนาทางรางจะสร้างความเป็นเมือง (urbanization) มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการพัฒนาเมืองแบบผสมผสานระหว่างการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development: TOD) ซึ่งจะทำให้ที่ดินบริเวณที่มีแนวรถไฟพาดผ่านเกิดการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้สูงยิ่งขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาบริเวณสถานีรถไฟฟ้าในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแบบ TOD ทำให้การรถไฟฟ้าฮ่องกงสามารถสร้างรายได้ทั้งจากค่าโดยสารและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งส่งผลให้โครงการสามารถคืนทุนได้ภายใน 8 ปีหรือใช้เวลาคืนทุนลดลงกว่าครึ่ง ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงผลกระทบทางธุรกิจจากการสร้างรถไฟ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งทั้งประเภทซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงธุรกิจอาหารและโรงแรม ซึ่งอีไอซีประเมินว่ายังมีหลายพื้นที่ที่ธุรกิจเหล่านี้ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัวและสามารถขยายต่อไปได้อีก
ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ จะช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการบินของประเทศและส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารทั้งในและต่าง ประเทศได้กว่า 140 ล้านคน/ปี หรือกว่า 2 เท่าของความสามารถในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มจาก 29.5 ล้านคน/ปีในปัจจุบันเป็น 45 ล้านคน/ปีภายในปี 2020
ซึ่งย่อมส่งผลบวกต่อธุรกิจการบินและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน และธุรกิจบริการอาหารทั้งก่อนและระหว่างการเดินทาง อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ เช่น การพัฒนาโรงแรมในภูเก็ตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาสถานที่จัดประชุมในเชียงใหม่และภูเก็ตเพื่อรองรับอุตสาหกรรม MICE เป็นต้น นอกจากนี้ หากมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินก็จะยิ่งส่งเสริมการเติบโตของสนามบินได้อีก เช่น กรณีสนามบิน Schiphol เนเธอร์แลนด์ ที่มีการพัฒนาให้กลายเป็นเมืองศูนย์ กลางธุรกิจและการบิน (aerotropolis) สามารถสร้างรายได้กว่า 4% ของ GDP และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 65,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำและการเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งทางน้ำและการขนส่งรูปแบบอื่นจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการส่งออกสินค้าของประเทศ จะทำให้ใช้เวลาในการลำเลียงตู้สินค้าสู่หน้าท่าลดลงและมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้ารวมต่ำกว่าการขนส่งทางรถบรรทุกอีกด้วย
ทั้งนี้อีไอซี คาดว่า ภายในปี 2032 จะมีผู้ประกอบการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งตู้สินค้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังจากการใช้รถบรรทุกมาเป็นการขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้นราว 1.1 ล้านทีอียู ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าลดลงกว่า 1 พันล้านบาท ด้านการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ การพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (A0) และเขื่อนป้องกันตลิ่งพังในแม่น้ำป่าสัก เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการหันมาขนส่งสินค้าทางน้ำภายใน ประเทศซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าการขนส่งทางถนนราว 300% มากขึ้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงโอกาสให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจซ่อมเรือ และธุรกิจคลังสินค้า ที่จะได้ประโยชน์จากการขนส่งทางน้ำทั้งในและระหว่างประเทศที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ มีบางธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น รถบรรทุกและรถโดยสารระหว่างเมืองเนื่องจากมีต้นทุนสูงกว่าการขนส่งทางรางและเรือและช้ากว่าการขนส่งทางอากาศซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เช่น ผู้ประกอบการรถบรรทุกอาจมุ่งเน้นการเป็น feeder ในเส้นทางระยะสั้นเพื่อเชื่อมโยงกับระบบราง เป็นต้น
ขณะที่ในระยะยาว โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านการคลัง พลังงาน แรงงาน เทคโนโลยี และการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า อีไอซีประเมินว่าการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยกระตุ้นให้ GDP เติบโตได้ราว 0.3%-1% ต่อปีและก่อให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน (crowding-in) เพิ่มกว่า 3% ตามมา
ขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP มีค่ากว่า 52% ซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่น่ากังวล ส่วนในระยะยาว ความต้องการพลังงานสำหรับโครงการรถไฟฟ้าจะกระตุ้นทั้งการผลิตไฟฟ้าและการสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยและความต้องการน้ำมันสำหรับอากาศยานและเรือมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาสู่สังคมเมืองจะทำให้มีการเคลื่อน ย้ายแรงงานจากภาคเกษตรสู่ภาคบริการที่มีรายได้สูงกว่าซึ่งอาจทำให้การขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรรุนแรงยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ความสลับซับซ้อนของระบบคมนาคมในประเทศจะก่อให้เกิดโอกาสการลงทุนในระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อจัดระเบียบการขนส่งและโลจิสติกส์ให้เชื่อมต่ออย่างราบรื่นมากขึ้น ทั้งยังสร้างโอกาสให้ไทยก้าวไปเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้ในอนาคต