SCB มองราคาประมูล 1800MHz สูงกระทบเอกชนบ้างแต่ไม่รุนแรง แนะจับตา 900MHz

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB มองราคาประมูล 1800 MHz สูงกระทบเอกชนบ้างแต่ไม่รุนแรงเท่าการประมูลดิจิทัลทีวี แนะจับตา 900 MHz วันที่ 15 ธ.ค. คาดแข่งขันดุเดือด


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองผลประมูลใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz ที่มีมูลค่าเงินประมูลรวมสูงกว่าราคาตั้งต้นถึง 48,954 ล้านบาท หรือ 154% สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อขยายโครงข่ายให้รองรับกับความต้องการใช้งานด้านข้อมูลที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงปี 53-57 ที่มีความต้องการใช้งานด้านข้อมูลเพิ่มขึ้นกว่า 35% ต่อปี ทำให้ผู้ประกอบการต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติมเพื่อรองรับปริมาณการใช้งานข้อมูลที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีผู้เข้าร่วมประมูลมากถึง 4 ราย

สำหรับใบอนุญาตเพียง 2 ใบ ทำให้การแข่งขันมีความรุนแรงและราคาประมูลรวมถูกดันให้สูงกว่าราคาตั้งต้นกว่า 154% และสูงกว่ามูลค่าประเมินคลื่นความถี่ โดยใบอนุญาตแรกคิดเป็น 200% ของมูลค่าคลื่น และใบอนุญาตที่สองคิดเป็น 206% ของมูลค่าคลื่น

ราคาประมูลสูงมีผลกระทบบางส่วนต่อผู้ประกอบการ แต่จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงเท่าการประมูลดิจิทัลทีวี จากกรณีดิจิทัลทีวีที่มีมูลค่าการประมูลค่อนข้างสูง และส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน ความมั่นคง และสภาพคล่องของผู้ประกอบการบางรายนั้น EIC มองว่ากรณีดังกล่าวมีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการมือถือ เนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคมมีผู้เล่นน้อยราย และผู้เล่นแต่ละรายต่างมีฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ อีกทั้งยังมีเงินทุนและสายป่านที่ยาวกว่าผู้ประกอบการดิจิทัลทีวี แต่ต้นทุนค่าใบอนุญาตที่สูงอาจกระทบต่อผลประกอบการและกำไรในช่วงแรกราว 5-10% และทำให้ระยะเวลาคืนทุนของผู้ประกอบการนานขึ้น” เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ด้วยเงื่อนไขเรื่องค่าบริการของ กสทช.ทำให้ผู้ชนะประมูลต้องหากลยุทธ์อื่นที่ไม่ใช่ด้านราคา เพื่อรักษาฐานรายได้และกำไรของบริษัท แม้ราคาประมูลที่ดีดตัวสูงจากราคาตั้งต้นและมูลค่าคลื่นค่อนข้างมาก แต่ กสทช.กำหนดให้ค่าบริการทั่วไปของคลื่น 1800 MHz จะต้องถูกลงกว่าค่าบริการเฉลี่ยของการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz และจะต้องมีแพ็คเกจราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้ต่ำ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส จึงเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ผู้ประกอบการต้องหาแนวทางอื่นๆ เพื่อทำให้บริษัทยังคงมีการเติบโตของรายได้และกำไร

แม้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 1800 MHz จะเป็นรายเดิม แต่ยังคงต้องจับตามองการประมูลคลื่น 900 MHz ซึ่งคาดว่า JAS อาจมีโอกาสสอดแทรกเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดได้ โดย EIC ประเมินว่า JAS มีแนวโน้มต้องการคลื่น 900 MHz มากกว่าคลื่น 1800 MHz และอาจทุ่มเม็ดเงินเพื่อก้าวเข้ามาทำธุรกิจในตลาดมือถือ เนื่องจากคลื่นความถี่ต่ำสามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้มากกว่า 2 เท่าและสามารถลดการลงทุนด้านโครงข่ายลงได้กว่า 10 เท่า ทั้งนี้หาก JAS สามารถประมูลคลื่น 900 MHz ได้ก็จะช่วยส่งเสริมธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของบริษัท และต่อยอดบริการข้อมูลให้ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น

ทั้งนี้อีไอซีมองว่าหากผู้ประกอบการเลือกใช้กลยุทธ์ที่เหมาะสมในการทำการตลาดและลงทุนระบบ 4G บนคลื่นความถี่ 1800 MHz จะมีโอกาสช่วยเร่งอัตราการใช้ข้อมูลของลูกค้า(data usage) และเพิ่มรายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมาย(ARPU) ให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์ตามมา การประมูลคลื่นความถี่และการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 4G มีผลโดยตรงต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม โดยการประมูลคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซียและอินเดีย ก่อให้เกิดการลงทุนด้านโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นกว่า 16-40%YOY ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกแก่ผู้รับเหมาติดตั้งและขยายโครงข่าย รวมถึงผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ผู้ผลิตและจำหน่ายสมาร์ทโฟน การค้าออนไลน์ การทำธุรกรรมผ่านมือถือ รวมถึงการให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง อีกด้วย

สำหรับผลการประมูลใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ 1800 MHz นั้น TRUE เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นใบอนุญาตแรกที่ราคา 39,792 ล้านบาท ส่วน AIS เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นใบอนุญาตที่สองที่ราคา 40,986 ล้านบาท รวมมูลค่าเงินประมูล 80,778 ล้านบาท ซึ่ง กทค.จะพิจารณารับรองการประมูลภายในวันที่ 18 พ.ย.58 เพื่อออกใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ให้กับผู้ที่ชนะการประมูลทั้ง 2 ราย

Back to top button