8 หุ้นลีสซิ่งร่วงต่อ! รับแรงกดดัน “ธปท.” จ่อคุมเข้มเช่าซื้อรายย่อย
8 หุ้นลีสซิ่งร่วงต่อ! รับแรงกดดัน “ธปท.” จ่อคุมเข้มเช่าซื้อ-ลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์รายย่อย TIDLOR-SAK-SAWAD-NCAP-HENG-MTC-TK-AMANAH นำทีมรูด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(29ส.ค.) ณ เวลา 11:33 น. ราคาหุ้นในกลุ่มธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์(ลีสซิ่ง)ปรับลงต่อจากวานนี้ นำโดย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 28.75 บาท ลบ 1.50 บาท หรือ 4.96% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 805.42 ล้านบาท
ด้านบริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 7.20 บาท ลบ 0.35 บาท หรือ 4.64% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 23.33 ล้านบาท
บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 49.00 บาท ลบ 3.45 บาท หรือ 3.45% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 412.53 ล้านบาท
บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 4.26 บาท ลบ 0.12 บาท หรือ 2.74% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 32.94 ล้านบาท
บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 3.46 บาท ลบ 0.06 บาท หรือ 1.70% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 47.96 ล้านบาท
บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 43.25 บาท ลบ 0.75 บาท หรือ 1.70% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 713.31 ล้านบาท
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 9.95 บาท ลบ 0.15 บาท หรือ 1.42% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.42 ล้านบาท
บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 4.34 บาท ลบ 0.06 บาท หรือ 1.36% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 16.84 ล้านบาท
ทั้งนี้การปรับลดลงของหุ้นมาจาก ธปท. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง “พระราชกฤษฎีกากำหนดการประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 พ.ศ. …. เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อ และการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยธปท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นถึง 31 ส.ค. 2565
โดยธปท.ให้เหตุผลว่า ธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และจักรยานยนต์ให้บริการแก่ประชาชนเป็นวงกว้าง และมีอัตราการขยายตัวสูงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณธุรกรรมมีนัยสำคัญทั้งในระดับเศรษฐกิจและระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย
โดยสิ้นปี 2564 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับ 90% ต่อจีดีพี ยอดหนี้รวม 14.6 ล้านล้านบาท โดยเป็นยอดคงค้างของการให้เช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 1.8 ล้านล้านบาท หรือ 12.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และเป็นส่วนของผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและไม่ใช่บริษัทลูกธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) สัดส่วนถึง 31.6% ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ
บล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(30 ส.ค.2565) ว่า นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าเรื่องการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ว่าอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในส่วนที่ยังไม่มีการกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ โดยจะเปิดรับฟังถึง 31 ส.ค. นี้
ทั้งนี้ มองเป็นลบเล็กน้อยต่อการเข้ามาควบคุมของ ธปท.เตรียมควบคุมธุรกรรมเช่าซื้อ โดยจากร่าง พ.ร.ฎ.พบว่า ธปท. จะเข้าควบคุมด้าน Market conduct ในการดำเนินงานให้เป็นธรรมกับลูกค้า ทั้งการเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์ เช่น อัตราดอกเบี้ย และค่าบริการต่างๆ รวมทั้งจัดทำรายงานให้ ธปท.เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบกับผู้ประกอบการเช่าซื้อรายย่อยเป็นหลัก แต่จะไม่กระทบผู้ประกอบการที่จดทะเบียน SET เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้ได้มีการจัดทำและให้ดำเนินงานตาม Market conduct แล้ว
ขณะที่ในระยะหลังประเมินว่า ธปท.มีความตั้งใจที่จะเข้าควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้เป็นธรรมกับผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อ เบื้องต้นประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ 15% และรถจักรยานยนต์ที่ไม่ต่ำกว่า 26% คาดว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เป็นหลัก ได้แก่ TK, NCAP, S11, SAWAD (ถือ/เป้า 50.00 บาท) จากการคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่ไม่ต่ำกว่า 30% ขณะที่คาดว่าจะกระทบต่อ MTC (ถือ/เป้า 50.00 บาท) จำกัด จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าประมาณ 24%