FORTH บวก 6% รับแผนผุดศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน ย้ำเป้าปีนี้รายได้โต 10-15% ดันกำไรนิวไฮ
FORTH บวกแรง 6% รับแผนผนึก AOT ผุดศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน คาดแล้วเสร็จเปิดบริการปี 67 เจาะกลุ่มลูกค้าโลว์คอสแอร์ไลน์ ย้ำเป้าปีนี้รายได้โต10-15% ดันกำไรนิวไฮ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (4 ก.ย.65) ราคาหุ้น บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH ณ เวลา 10:59 น. อยู่ที่ระดับ 52.50 บาท เพิ่มขึ้น 3.00 บาท หรือ 6.06% โดยทำจุดสูงสุดที่ 52.50 บาท และทำจุดต่ำสุดที่ 51.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 81.23 ล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้นายพัทธนันท์ อมตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ FORTH เปิดเผยว่า ล่าสุด FORTH ได้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ชื่อบริษัท FORTH MRO SERVICE โดย FORTH ถือหุ้น 75% และ AOT ถือหุ้น 25% เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน (MRO) ซึ่งจะเริ่มก่อสร้าง MRO ในปี 2566 พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) มูลค่าการลงทุน 500 ล้านบาท บริเวณด้านทิศใต้ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยใช้วิธีเช่าพื้นที่ AOT และคาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2567 ซึ่งจะสามารถซ่อมบำรุงใหญ่และซ่อมบำรุงทั่วไป (Line Maintenance) เครื่องบินลำตัวแคบ เช่น โบอิ้ง 737 และแอร์บัส A320 และเครื่องบินที่มีขนาดเล็กกว่า 2 ประเภทดังกล่าว รวมทั้งเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet)
ทั้งนี้ MRO ของบริษัทจะสามารถรองรับเครื่องบินเข้าซ่อมได้เต็มที่ 96 ลำ (สามารถจอดซ่อมพร้อมกันได้ 4 ลำ) โดยยังไม่รวมพื้นที่บริการจอดเครื่องบิน Private Jet ที่น่าจะจอดได้ไม่ต่ำ 50 ลำขึ้นไป ซึ่งในปีแรกที่เปิดบริการคาดว่าจะมีเครื่องบินเข้าซ่อมประมาณ 50 ลำ ประเมินว่ามีกำไรจากธุรกิจนี้ราว 60-70 ล้านบาทต่อปี และใช้ระยะเวลาคืนทุน 10 ปี กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสแอร์ไลน์) ที่ปัจจุบันต้องบินไปซ่อมบำรุงที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แค่การเดินทางต่อ 1 เที่ยวก็มีค่าใช้จ่ายราว 3 แสนบาทแล้ว โดยยังไม่นับรวมค่าซ่อมบำรุงที่ต้องจ่ายด้วย
ส่วน MRO ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI นั้น ก็เน้นการซ่อมบำรุงเครื่องบินของ THAI ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดลำตัวกว้าง ดังนั้นหาก MRO ของบริษัท FORTH MRO เปิดบริการ มั่นใจว่าจะมีลูกค้าเข้าใช้บริการอย่างต่อเนื่องแน่นอน โดยเฉพาะเครื่องบินที่ให้บริการในประเทศไทย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนให้บริการเครื่องบิน Private Jet แบบครบวงจร ทั้งนักบิน การขออนุญาตต่าง ๆ และพื้นที่จอด เนื่องจากเห็นโอกาสว่าที่ผ่านมามีลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงที่ต้องการใช้ Private Jet จำนวนมากทั้งในประเทศและแถบอาเซียน แต่มีความยุ่งยากในการใช้บริการทั้งการขออนุญาต การหาที่จอด และการซ่อมบำรุงทั่วไป ดังนั้นหากบริษัทสามารถบริการสิ่งเหล่านี้ได้ครบทั้งหมด ก็มั่นใจว่าจะมีลูกค้าเข้าใช้บริการจำนวนมากแน่นอน และบริษัทยังเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องบินลำตัวแคบด้วย ซึ่งปีนี้ได้ลงนามในสัญญาขายไปแล้ว 3 ลำ และการมี MRO จะช่วยหนุนธุรกิจการขายเครื่องบินด้วย เพราะสามารถเพิ่มงานซ่อมบำรุงไปในแพ็กเกจได้
นายพัทธนันท์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลประกอบการ FORTH ปีนี้ โดยย้ำว่ารายได้และกำไรจะทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) โดยตั้งเป้ารายได้โต 10-15% จากปีก่อนที่บริษัทมีรายได้ 8,813 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2565 จะสูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 722 ล้านบาท โดยมีแรงหนุนจาก 3 ธุรกิจของ FORTH คือ1. ธุรกิจสมาร์ตเซอร์วิส พบว่าตู้เต่าบินยังได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันบริษัทมีตู้เต่าบินที่ 3,000 ตู้ และภายในสิ้นปีนี้จะปิดที่ 6,000 ตู้ และคาดว่าปี 2565 ธุรกิจตู้เต่าบินจะมีกำไรสุทธิ 250 ล้านบาท และในปี 2566 บริษัทจะเพิ่มตู้เต่าบินเป็น 12,000 ตู้ คาดว่าจะมีกำไร 700 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 2 หมื่นตู้ ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า
2.ธุรกิจอีเอ็มเอส (Electronic Manufacturing Service : EMS) ยังมีคำสั่งจ้างผลิตและประกอบแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (ออเดอร์) จากลูกค้ารายใหญ่ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีก่อนมีรายได้เฉพาะลูกค้ารายใหญ่ 1,000 ล้านบาท และปีนี้จะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท และ 3.ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์โซลูชันส์ในช่วงครึ่งปีหลังยังสามารถส่งมอบงานได้ตามแผน ไม่มีค่าปรับ โดยปัจจุบันมีงานที่รอรับรู้รายได้ 643 ล้านบาท ส่วนใหญ่รับรู้รายได้ปีนี้ นอกจากนี้บริษัทยังมีงานต่อเนื่องจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คือ งานผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าที่ปีนี้จะผลิตที่ 30,000 ยูนิต โดยปี 2566 จะเพิ่มเป็น 90,000 ยูนิต และมั่นใจว่าจะได้รับงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะ FORTH เป็นผู้เขียนซอฟต์แวร์สินค้านี้ จึงเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ FORTH เท่านั้น