จับตา TRUE-DTAC ยื่นเอกสารกดดัน ก่อนบอร์ด กสทช. นัดถกดีลควบพรุ่งนี้
ลุ้น กสทช. เตรียมนัดพิจารณาดีลควบรวม TRUE-DTAC พรุ่งนี้จบหรือไม่ หลัง 1 ในบอร์ด กสทช. ยอมรับส่อการควบรวมต้องยืดออกไป หลังพบข้อมูลใหม่ ด้านตัวแทน TRUE-DTAC ยืนเอกสารกดดันให้เร่งรัดพิจารณา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 ต.ค.65) ราคาหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ณ เวลา 11:20 น. อยู่ที่ระดับ 0.05 บาท บวก 0.05 บาท หรือ 0.99% สูงสุดที่ระดับ 5.10 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 5.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 250.21 ล้านบาท
ด้านบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ณ เวลา 11:21 น. อยู่ที่ระดับ 45.50 บาท ลบ 0.25 บาท หรือ 0.55% สูงสุดที่ระดับ 45.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 45.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 152.72 ล้านบาท
โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ตัวแทน TRUE-DTAC จะเข้าพบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. เพื่อยื่นเอกสารเพิ่มเติมกรณีควบรวมรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ไว้ในวาระการประชุมโดยมีผู้บริหารจากทั้ง 2 บริษัทฯ เป็นตัวแทนเข้ายื่น
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นเกิดขึ้น ก่อนหน้าที่ กสทช.จะมีการประชุม บอร์ด กสทช. วันพรุ่งนี้ (12 ต.ค.) ที่ได้บรรจุเรื่องการขอรวมกิจการของ TRUE และ DTAC ไว้ในวาระการประชุม
โดยบอร์ดต้องมาคุยรายละเอียดในขั้นตอนต่างๆ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และประกาศต่างๆ ของ กสทช. ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะประโยชน์ต่อสาธารณะและการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมที่มองข้ามไม่ได้
ด้านนางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันพรุ่งนี้ (12 ต.ค.) ได้บรรจุเรื่องการขอรวมกิจการของ TRUE และ DTAC ไว้ในวาระการประชุมแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการลงมติเลยหรือไม่
เนื่องจากบอร์ดต้องมาคุยรายละเอียดในขั้นตอนต่างๆรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และประกาศต่างๆ ของ กสทช. ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะประโยชน์ต่อสาธารณะและการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมที่มองข้ามไม่ได้
นอกจากนี้ ล่าสุดมีผลศึกษาจากต่างประเทศที่เพิ่งจัดทำเสร็จและน่าสนใจจึงต้องศึกษาเพิ่ม รวมกับการรับฟังความคิดเห็นต่างๆก็ต้องเอามาประกอบกันทั้งหมดในการพิจารณาด้วย
“เป็นเรื่องปกติที่มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็ต้องดูตามเนื้อผ้า เพราะมีรายงานการศึกษาต่างๆ ของทั้งคณะอนุฯและที่ปรึกษาทั้งใน และต่างประเทศที่ได้ว่าจ้าง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการการประชุมบอร์ดในวันพุธที่ 12 ต.ค.นี้ เรื่องควบรวมทรู-ดีแทค คงจะจบยากอาจยังไม่มีการลงมติ”
เช่นเดียวกับ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช. กล่าวว่า การประชุมบอร์ดกสทช.วันดังกล่าวยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะสามารถลงมติเรื่องควบรวมได้หรือไม่ ซึ่งความล่าช้าเรื่องการตัดสินใจของบอร์ดแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในวงกว้างและไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
และบอร์ดเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่จะให้ตัดสินใจเลย ใครจะกล้าทำ การเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่เกือบทั้งหมดของบอร์ดทำให้ไม่มีความรู้เรื่องนี้มากนัก ที่สำคัญต้องยอมรับว่าประกาศหลักเกณฑ์ หรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นไม่ได้เขียนชัดเจน ต้องมีการตีความเอามาประกอบด้วย
“หากบริษัทที่ต้องการควบรวมต้องการเร่งให้พิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ที่บริษัทจะอ้างกฎหมายในบ้างข้อว่ามีเงื่อนไขของเวลาเข้ามากำหนด ซึ่งบอร์ด กสทช.ได้พิจารณาแล้วอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการพิจารณาต้องดูข้อมูลและข้อกฎหมายให้ชัดว่าการตัดสินจะเป็นอย่างไร รวมถึงอำนาจในการตัดสินของกสทช.ด้วย”
ดังนั้น ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ต.ค.นี้ หากบอร์ดมีความเข้าใจในทุกประเด็นปัญหาร่วมกันอย่างชัดเจน มาตรการเยียวยา 14 ข้อ ที่สำนักงานกสทช.เสนอ สามารถตอบคำถามในทุกประเด็น และเป็นมาตรการที่แท้จริงได้
แหล่งข่าวจากบอร์ดกสทช.เสริมว่า บอร์ดไม่ได้ประชุมร่วมกันกว่า 3 ครั้ง อีกทั้งตัวประธานบอร์ดกสทช.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ก็เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเอง ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่จะมาพิจารณาลงมติ เนื่องจากต้องมีการพิจารณาถึงอำนาจของบอร์ดกสทช.ก่อนว่ามีอำนาจหรือไม่ หรือทำหน้าที่เพียงแค่รับทราบตามที่สำนักงานเสนอเท่านั้น
อีกทั้งวานนี้ (10 ต.ค.) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ยื่นหนังสือต่อกสทช.เพื่อขอให้บอร์ดใช้หลักอุดมการณ์และยืนหยัดข้างผู้บริโภคและประชาชน เนื่องจากกรณีที่ทรูและดีแทคนั้น มีเจตนาจะทำการควบรวมบริษัทในธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งท่านในฐานะคณะกรรมการองค์กรอิสระที่ดูแลกำกับกิจการโทรคมนาคมจะต้องใช้อำนาจพิจารณาการควบรวมครั้งนี้ เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นบริษัทในกิจการโทรคมนาคม ที่หลังจากการควบรวมจะมีการเข้าไปถือหุ้นมากกว่า 10% ในบริษัทลูก คือบริษัท ทรูมูฟเอช จำกัด และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อันขัดต่อตามบัญญัติมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ยิ่งไปกว่านั้น ยังขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2562-2566 ที่มีผลผูกพันต่อ กสทช.ในทางปกครองนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม “ตามกฎหมายของปี 2549 กำหนดว่า การเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 10 ของผู้ได้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดเพื่อให้มีสิทธิ์กำหนดนโยบาย ต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. ก่อนเท่านั้น จะกระทำก่อนไม่ได้”
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ในฐานะเป็นตัวแทนผู้บริโภค ที่มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าการควบรวมกิจการโทรคมนาคมดังกล่าว จะเกิดผลกระทบต่อสังคมในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าด้านการศึกษา และหากบอร์ดกสทช.อนุญาตให้เกิดการควบรวมจะทำให้เกิดการผูกขาด และลดการแข่งขันในตลาดค่ายมือถือและตลาดอินเตอร์เน็ตที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาความรู้ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา
นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ ของ กสทช. พบว่า การควบรวมครั้งนี้เป็นอันตรายต่อการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่แสดงค่า HHI ที่เป็นดัชนีวัดการกระจุกตัวของตลาด ที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 2500 แต่หากเกิดการควบรวม ดัชนีนี้จะทะยานสูงถึง 5007 ที่ส่งสัญญาณอันตรายต่อตลาดนี้ที่นำทรัพยากรคลื่นความถี่ของประชาชนมาบริหาร โดยมีการคาดการณ์ว่า ราคาค่บริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มจะสูงขึ้นจาก 2.07% ในระดับเริ่มต้นของการแข่งขันหลังควบรวม และจะทะยานถึง 244.5% และทำให้ผู้บริโภคขาดทางเลือกในการใช้บริการ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในยุคดิจิทัล รวมถึงความมั่นคงในการบริการโครงข่ายสาธารณะเพราะการมีผู้ประกอบการน้อยรายย่อมเสี่ยงมากกว่าการมีผู้ประกอบการมากราย
“ในวันที่ 12 ต.ค. หากมีการลงมติให้ควบรวมได้ ทางสอบ. ก็มีแนวนโยบายอยู่แล้วว่าเรื่องนี้คงไปจบที่ศาลปกครอง ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็คงมีการฟ้องร้องตามหลักนิติธรรมปกติ แต่ขอให้ กสทช. มั่นใจว่า ถ้าลงมติ เพื่อประโยชน์สาธารณะแล้ว ถูกเอกชนฟ้อง ทาง สอบ. ก็พร้อมสนับสนุนในขั้นตอนของศาล แต่หากผลลงมติดูแล้วเอื้อเอกชนมากกว่าสาธารณะ ทาง สอบ. ก็ต้องฟ้องต่อศาลปกครองเช่นเดียวกัน” นางสาวสุภิญญา กล่าว