PTTEP บวก 3% ลุ้นปีนี้ผลงานโต รับราคาก๊าซ-น้ำมันพุ่ง
PTTEP บวก 3% แตะ 177 บ. ย้ำปี 65 ผลงานเติบโต รับราคาก๊าซและน้ำมันพุ่ง พร้อมเร่งผลิต “ก๊าซเอราวัณ” ครบ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต ภายในเดือนเม.ย.ปี 67
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 ต.ค.65) ราคาหุ้น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ณ เวลา 10:19 น. อยู่ที่ระดับ 177 บาท บวก 4.50 บาท หรือ 2.61% สูงสุดที่ระดับ 177 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 174 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 498.98 ล้านบาท
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผย ว่าภายหลังจากปตท.สผ.ได้เข้าเป็นผู้ดำเนินการในโครงการ G1/61 (เอราวัณ) เมื่อเดือน เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) หลังจากที่ล่าช้าในการเข้าพื้นที่มา 2 ปี ล่าสุดปตท.สผ.กำลังเร่งติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) ซึ่งเตรียมไว้จำนวน 8 แท่น เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแหล่งเอราวัณ จากปัจจุบันอยู่ที่ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มเป็น 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือน เม.ย. 2566 และครบตามสัญญา จำนวน 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือน เม.ย. 2567
ขณะเดียวกัน ปตท.ได้เร่งบริหารจัดการก๊าซฯ จากแหล่งอื่น ๆ ในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ โครงการ G2/61 (บงกช) โครงการอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) เพิ่มขึ้นรวม 120 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณที่ลดลงในช่วงนี้ ส่วนแผนการดำเนินงานของโครงการบงกช ซึ่งปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้วนั้น สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องตามแผนงานในอัตรา 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
โดยภารกิจสำคัญที่ปตท.สผ.ตระหนักและมุ่งมั่นดำเนินการมาโดยตลอดก็คือ การเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ การเข้าเป็นผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ทั้งเอราวัณและบงกช ซึ่งเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ทางพลังงาน ที่มีศักยภาพการผลิตก๊าซฯ รวมกันถึง 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือประมาณ 60% ของประเทศ
สำหรับข้อกังวลค่าปรับกรณีแหล่งเอราวัณไม่สามารถผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญา PSC ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในปี 2565 นั้น ขณะนี้ปตท.สผ.ได้หารือกับทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว เพื่อขอยืดสัญญาออกไป 2 ปี ตามความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ ซึ่งเบื้องต้นทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็เข้าใจสถานการณ์ดังกล่าว
ส่วนปริมาณก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณที่ลดลงนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากปตท.สผ. แต่เกิดจากความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ 2 ปี ประกอบกับผู้ดำเนินการรายเดิมไม่ได้มีการพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณก๊าซฯ ลดลง ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ต้องหยุดแท่นผลิตไป 5 แท่น เหลือเพียง 3 แท่นเท่านั้น เนื่องจากปริมาณก๊าซฯ ไม่เพียงพอ แต่ปตท.สผ.จะพยายามเอา 5 แท่นกลับมา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในแหล่งเอราวัณตามแผน อย่างไรก็ตามจากปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่ลดลง ส่งผลประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) ในรูปแบบ Spot มากขึ้น ซึ่งมีราคาแพง ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ลดลงจากช่วงต้นปีที่เคยขึ้นไปสูงถึง 80 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เทียบกับราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทยอยู่ที่ 6-7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
โดยนายมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานของปตท.สผ.ในปีนี้ จะยังเติบโตต่อเนื่อง ตามปริมาณการขายและราคาขายที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 4.65 แสนบาร์เรลต่อวัน เทียบกับปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.16 แสนบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ปตท.สผ.พยายามรักษาต้นทุนต่อหน่วยไม่เกิน 29-30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ด้าน นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าสาเหตุที่ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในปัจจุบัน เป็นผลมาจากความล่าช้าในการเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ เนื่องจากกรมฯ ตั้งเงื่อนไขในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม โดยเชื่อมโยงกับกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้น กรมฯ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ ขอชี้แจงว่าทั้ง 2 กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่ใช่สาเหตุหลักของค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมฯ ได้ทำหน้าที่แสวงหาแหล่งพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เป็นหน่วยงานภาครัฐระดับกรมที่สร้างรายได้เป็นลำดับที่ 4 ของประเทศ ปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในการดำเนินการจัดหาผู้ประกอบการสำรวจและผลิตแหล่งก๊าซฯ เอราวัณและบงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 กรมฯ ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียมเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ จึงได้เริ่มดำเนินการประมูลจัดหาผู้ประกอบการสำรวจและผลิตแหล่งเอราวัณและบงกช ภายใต้ระบบสัญญา PSC ในปี 2561 เป็นการล่วงหน้า ก่อนที่จะสิ้นอายุสัมปทาน 4-5 ปี
โดยผู้รับสัมปทานรายเดิมสำหรับแหล่งเอราวัณคือ บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และแหล่งบงกชคือ ปตท.สผ. ได้เข้าร่วมการประมูลทั้ง 2 แหล่งดังกล่าวด้วย และผลการประมูลปรากฏว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) เป็นผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 แหล่ง โดยมีข้อเสนอส่วนลดราคาก๊าซฯ จากราคาตามสัมปทานเดิมและส่วนแบ่งกำไรตามหลักการของสัญญาแบ่งปันผลผลิตเพิ่มเติม รวมมูลค่าถึงกว่า 6.5 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปีแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิต
ขณะที่กรมฯ ได้ผลักดันให้ผู้รับสัญญาเร่งการดำเนินงานและปรับแผนงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ขณะที่การผลิตในแหล่งบงกช ซึ่งผู้ชนะการประมูลคือผู้ดำเนินงานรายเดิม (ปตท.สผ.อีดี) ยังคงสามารถผลิตปิโตรเลียมได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด และจะมีการเพิ่มการผลิตในปี 2566
สำหรับกรณีข้อพิพาทการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณระหว่างรัฐบาลไทยและผู้รับสัมปทานรายเดิม ขณะนี้อยู่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันในการตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายของผู้รับสัมปทานในการรื้อถอนฯ จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าพื้นที่ล่าช้าแต่อย่างใด เพราะการเข้าพื้นที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างผู้รับสัมปทานรายเดิมและผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ทั้งนี้ปัจจุบันรัฐได้ดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับกรณีพิพาทดังกล่าวภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก