กกพ. เลื่อนรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน FiT ชายแดนภาคใต้เป็น Q1/59
กกพ. เลื่อนระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน FiT สำหรับพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ไม่เกิน 46MW ออกไปเป็น Q1/59 จากเดิมปลายเดือนพ.ย.58 เตรียมเปิดรับฟังความเห็นรอบ 2 วันที่ 16-30 พ.ย.นี้
คณะกรรมการกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า กกพ. ได้ประกาศเลื่อนระยะเวลารับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff (FiT) ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา เป้าหมายไม่เกิน 46 เมกะวัตต์ ออกไปเป็นช่วงไตรมาส 1/59 จากเดิมที่จะเปิดให้ยื่นข้อเสนอได้ในปลายเดือนพ.ย. หลังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศและร่างหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวเป็นรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-30 พ.ย.นี้
โดยเว็บไซต์ กกพ.ได้เผยแพร่การเปิดรับความเห็น (ครั้งที่ 2) เรื่อง ร่างประกาศการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff พ.ศ. 2558 (ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) และ (ร่าง) หลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าฯ
ทั้งนี้ กกพ.ได้จัดทำร่างประกาศและหลักเกณฑ์ของโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 13-27 ต.ค.ที่ผ่านมา และได้พิจารณาความคิดเห็นที่ได้รับ และได้มีปรับปรุงร่างประกาศการรับซื้อไฟฟ้าฯ และร่างหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าฯ จึงได้เปิดให้มีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2
สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศและหลักเกณฑ์ ยังคงใกล้เคียงเดิม โดย กกพ.จะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในแบบ FiT ที่เสนอจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในวันที่ 31 ธ.ค.60 โดยประกาศรับซื้อไฟฟ้าจะออกประกาศเป็น 2 ระยะ
ระยะแรก จะออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี ,จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) มีเป้าหมายกำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 46 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และชีวมวล ไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ ส่วนเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ของระยะที่ 2 จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ที่เหลือและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าต่อไป
สำหรับวิธีการรับซื้อไฟฟ้านั้น จะดำเนินการวิธีการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคา จะพิจารณารับซื้อโดยดำเนินการคัดเลือก แต่ละประเภทเชื้อเพลิงแยกจากกัน ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากของแต่ละประเภทเชื้อเพลิงที่เสนออัตราส่วนลด ในส่วนของอัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT ในส่วนคงที่ มากที่สุดจะได้รับการพิจารณาก่อน โดยจะรับซื้อตามศักยภาพระบบไฟฟ้าของแต่ละจุดเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และจะรับซื้อในภาพรวมให้ไม่เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแต่ละประเภทเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการโดยการเรียงลำดับราคานั้น หากพบว่าผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก เสนอขนาดกำลังการผลิตติดตั้งเกินกว่าศักยภาพของระบบไฟฟ้าคงเหลือ ทั้งในระดับ Feeder ระดับหม้อแปลง หรือเกินกว่าปริมาณเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าคงเหลือของเขตพื้นที่นั้น ผู้ผลิตขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากรายนั้นจะได้รับการคัดเลือก เมื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากรายยินยอมปรับลดขนาดกำลังการผลิตติดตั้งให้ไม่เกินศักยภาพของระบบไฟฟ้าคงเหลือ และไม่เกินปริมาณเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าคงเหลือของเขตพื้นที่นั้น
ส่วนวิธีการประเมินและคัดเลือกคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า จะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้ การประเมินคุณสมบัติรวมทั้งข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค และการประเมินข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคา ซึ่งลำดับของการยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้ามีความสำคัญในการพิจารณาคัดเลือก โดยในกรณีที่มีผู้เสนออัตราส่วนลดเท่ากัน ผู้ที่ยื่นก่อนจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาคัดเลือกก่อน
โดยอัตราสูงสุดของราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนแวียนแบบ Feed-in Tariff ซึ่งการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคาจะพิจารณาจากอัตราส่วนลดเป็นร้อยละของราคารับซื้อไฟฟ้าในส่วนของอัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT ในส่วนคงที่เท่านั้น โดยกำหนดสำหรับก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) อยู่ที่ 3.76 บาท/หน่วย และชีวมวล แบ่งเป็น ขนาดกำลังการผลิต น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 3.13 บาท/หน่วย ,กำลังการผลิตมากกว่า 1-3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 2.61 บาท/หน่วย และกำลังการผลิตมากกว่า 3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 2.39 บาท/หน่วย
ทั้งนี้ เมื่อรวมอัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT ในส่วนผันแปร ของเชื้อเพลิงแต่ละประเภทแล้วจะทำให้อัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT ของก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) อยู่ที่ 3.76 บาท/หน่วย และชีวมวล แบ่งเป็น ขนาดกำลังการผลิต น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 5.34 บาท/หน่วย ,กำลังการผลิตมากกว่า 1-3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 4.42 บาท/หน่วย และกำลังการผลิตมากกว่า 3 เมกะวัตต์ อยู่ที่ 4.24 บาท/หน่วย เป็นเวลา 20 ปี
ขณะที่กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าประเภทก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) นั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)จะเปิดรับตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 2-16 ธ.ค.58 ,กำหนดให้ยื่นข้อเสนอขอขายไฟฟ้าวันที่ 4-8 ม.ค.59 ,ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิควันที่ 15 ม.ค.59 และเปิดซองข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคาในวันที่ 18 ม.ค.59 ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกวันที่ 21 ม.ค.59 ขณะที่กฟภ.และผู้ที่ได้รับคัดเลือกลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าวันที่ 20 พ.ค.59
โดยกำหนดการรับซื้อไฟฟ้าประเภทชีวมวล จะประกาศข้อมูลศักยภาพระบบไฟฟ้าสำหรับประเภทชีวมวล ในวันที่ 25 ม.ค.59 ,กฟภ.เปิดรับตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 1-15 ก.พ.59 ,ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า วันที่ 1-7 มี.ค.59 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินคุณสมบัติและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิควันที่ 21 มี.ค.59 และเปิดซองข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคาในวันที่ 24 มี.ค.59 ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกวันที่ 28 มี.ค.59 ขณะที่กฟภ.และผู้ที่ได้รับคัดเลือกลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในวันที่ 26 ก.ค.59