ดาวโจนส์ปิดลบ จากแรงขายหุ้นธุรกิจสุขภาพ
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (19 พ.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มธุรกิจสุขภาพ หลังจากมีรายงานว่าบริษัทยูไนเต็ดเฮลธ์ กรุ๊ป วางแผนที่จะถอนตัวออกจากโครงการ 'โอบามาแคร์' นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กปรับตัวลดลง
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิด (19 พ.ย.) ที่ 17,732.75 จุด ลดลง 4.41 จุด หรือ -0.02%, ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 5,073.64 จุด ลดลง 1.56 จุด หรือ -0.03% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,081.24 จุด ลดลง 2.34 จุด หรือ -0.11%
หุ้นกลุ่มธุรกิจสุขภาพร่วงลงหลังจากยูไนเต็ดเฮลธ์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันสุขภาพรายใหญ่ของสหรัฐประกาศว่า ทางบริษัทอาจจะถอนตัวออกจากโครงการ ‘โอบามาแคร์’ เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ยูไนเต็ดเฮลธ์ยังได้รับลดคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ด้วย
โอบามาแคร์ หรือกฎหมายประกันสุขภาพที่มีชื่อยาวอย่างเป็นทางการว่า The Patient Protection and Affordable Care Act (PPACA) ซึ่งเกิดจากแนวคิดของประธานาธิบดีโอบามาและพรรคเดโมแครต โดยมีเป้าหมายที่จะขยายความคุ้มครองประสุขภาพให้ครอบคลุมชาวอเมริกันราว 15% หรือ 40-50 ล้านคน ซึ่งรวมถึงผู้มีฐานะยากจนและผู้สูงอายุ ที่ยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการประกันสุขภาพจากนายจ้างหรือจากรัฐบาล
ข่าวยูไนเต็ดแคร์วางแผนถอนตัวออกจากโครงการโอบามาแคร์นั้น ส่งผลให้ราคาหุ้นยูไนเต็ดเฮลธ์ร่วงลง 5.74% และได้ฉุดหุ้นบริษัทคู่แข่งรายอื่นๆร่วงลงด้วย รวมถึงหุ้นแอนเธม อิงค์ และหุ้นเอทนา อิงค์ ซึ่งต่างก็ร่วงลงกว่า 6.5% ขณะที่หุ้นเทเน็ท เฮลธ์แคร์ และหุ้นเอชซีเอ โฮลดิงส์ ต่างก็ดิ่งลงกว่า 6.69%
หุ้นไฟเซอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐ ร่วงลง 3.06% หลังจากมีรายงานว่าไฟเซอร์ตกลงซื้อกิจการบริษัทอัลเลอร์แกน โดยข่าวดังกล่าวได้ฉุดหุ้นอัลเลอร์แกน ดิ่งลง 2.81%, หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์ก อันเป็นผลมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานที่สูงเกินไป โดยหุ้นเชฟรอนร่วงลง 1.5% หุ้นเชซาพีค เอนเนอร์จี ดิ่งลง 10% หุ้นเซาท์เวสเทิร์น เอนเนอร์จี ดิ่งลง 5.6% และหุ้นคอนโซล เอนเนอร์จี ร่วงลง 5.7%
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวลงในกรอบที่จำกัด เนื่องจากนักลงทุนขานรับข้อมูลแรงงานที่สดใสของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว ลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 271,000 ราย โดยตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 300,000 รายเป็นสัปดาห์ที่ 37 ติดต่อกัน และยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 40 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนในระหว่างวันหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย โดยรายงานการประชุมประจำวันที่ 27-28 ต.ค.ของเฟดระบุว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ของเฟดมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่าเฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า แต่จะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนั้น Conference Board ระบุว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ประจำเดือนต.ค.ของสหรัฐ ปรับตัวขึ้น 0.6% สู่ระดับ 124.1 หลังจากร่วงลง 0.1% ทั้งในเดือนก.ย. และส.ค. โดยการดีดตัวขึ้นของดัชนีได้รับปัจจัยบวกจากการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้น และตัวเลขการอนุญาตสร้างบ้านที่สดใส