ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ STA ที่ระดับ “A-” แนวโน้ม”Stable”
ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ STA ที่ระดับ "A-" แนวโน้ม"Stable"
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว และผลงานของคณะผู้บริหารที่เป็นที่ยอมรับ ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและอัตราการทำกำไรในระดับต่ำของกลุ่มผู้ผลิตยางธรรมชาติในธุรกิจกลางน้ำ (Mid-stream Producer) โดยที่การชะลอตัวของความต้องการยางธรรมชาติจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวซึ่งอาจทำให้ราคายางตกต่ำต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้ต่อไป นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการสภาพคล่องและรักษาความแข็งแกร่งของงบดุลเพื่อรองรับวงจรธุรกิจขาลงของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติได้
ปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทมีค่อนข้างจำกัดในภาวะที่ราคายางธรรมชาติยังอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ราคายางธรรมชาติตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
บริษัทศรีตรังแอโกรอินดัสทรีเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจแปรรูปและจำหน่ายยางธรรมชาติในตลาดโลก ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานแปรรูป 26 แห่งในประเทศไทย 3 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย และอีก 1 แห่งในประเทศพม่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 บริษัทมีกำลังการผลิตยางแปรรูปทั้งสิ้น 1,467,544 ตันต่อปี บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดยางธรรมชาติทั่วโลกเท่ากับ 8.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางประมาณ 80% ให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์ โดยมียอดส่งออกคิดเป็น 84% ของปริมาณขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ตลาดส่งออกของบริษัทคือประเทศจีนซึ่งมีมูลค่าคิดเป็น 51% ของปริมาณยอดส่งออกทั้งหมด
ปัจจุบันผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลกประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนามและมาเลเซีย ผลผลิตโดยรวมจากทั้ง 4 ประเทศคิดเป็น 79% ของผลผลิตทั่วโลกที่มีปริมาณ 5.6 ล้านตันในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดด้วยผลผลิตรวมทั้งสิ้น 2.01 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (1.62 ล้านตัน) ประเทศเวียดนาม (0.41 ล้านตัน) และประเทศมาเลเซีย (0.35 ล้านตัน) ส่วนในด้านของการบริโภคนั้น ความต้องการยางธรรมชาติปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2554-2557 ที่ผ่านมาจาก 10.79 ล้านตันในปี 2553 มาอยู่ที่ 12.16 ล้านตันในปี 2557 เติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.0% ต่อปี ประเทศจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุด ซึ่งคิดเป็น 39.2% ของปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติทั่วโลก การบริโภคยางธรรมชาติทั่วโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 1.4% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ International Rubber Study Group (IRSG) คาดการณ์ว่าผลผลิตยางธรรมชาติของโลกจะมีมากกว่าความต้องการยางธรรมชาติที่จำนวน 303,000 ตัน ในปี 2558
อุตสาหกรรมยางแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็น 94%-98% ของต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตยางแปรรูปแต่ละราย ผู้ประกอบการจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติ ดังนั้น กำไรและกระแสเงินสดของผู้ประกอบการจึงมีความผันผวนอย่างมาก ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2553-2557 บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา (ไม่รวมการกลับรายการของการด้อยค่าของสินค้าคงเหลือ) เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 0.64%-3.79% และกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ระหว่าง 1,490-4,945 ล้านบาท
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 รายได้รวมของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45,825 ล้านบาท หรือลดลง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 อันเป็นผลมาจากราคาขายเฉลี่ยของบริษัทที่ลดลง 16.4% และปริมาณขายที่ลดลง 7.1% โดยบริษัทมีปริมาณขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เท่ากับ 817,004 ตัน ลดลง 7.0% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศจีน การส่งออกยางธรรมชาติไปยังประเทศจีน ซึ่งมีสัดส่วน 51.0% ของปริมาณการส่งออกรวมของบริษัทลดลง 15.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ราคาขายเฉลี่ยของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ลดลงประมาณ 16.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ตามราคายางธรรมชาติในตลาดโลก
สาเหตุเกิดจากปริมาณความต้องการยางธรรมชาติที่เติบโตในอัตราชะลอลงเพียง 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าราคายางธรรมชาติจะลดลง แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มเป็น 3.28% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2557 ที่เท่ากับ 0.64% ซึ่งสาเหตุมาจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ อัตรากำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลทำให้EBITDAของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2,719 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ซึ่งเพิ่มขึ้น 47.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
งบดุลของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนหนี้เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 19,799 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 จากเดิมที่ 13,975 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอ่อนตัวลงอยู่ที่ระดับ 48.11% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 จาก 40.43% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 เนื่องมาจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในช่วงธุรกิจขาลงของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ
โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เท่ากับ 3.35 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปี 2556-2557 ที่ระดับ 3.62-3.72 เท่า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงาน (FFO)ต่อเงินกู้รวมลดลงมาอยู่ที่10.66% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปี2556-2557ที่เท่ากับ14.07%-16.46% ในช่วงปี 2559-2561 บริษัทวางแผนจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปีเพื่อใช้ในการสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ EBITDA ที่ระดับ 2,500-2,900 ล้านบาทต่อปี ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจะมีเพียงพอที่จะรองรับแผนการลงทุนของบริษัท