ดักเก็บ JMT-CHAYO อานิสงส์แบงก์ตั้งสำรอง Q4/65 อ่วม! ดันบริหารหนี้ทะลัก

ดักเก็บ JMT-CHAYO ได้ประโยชน์แบงก์ตั้งสำรองหนี้ไตรมาส 4/65 อ่วม! ดัน NPL พุ่ง หนุนซื้อหนี้เสียบริหารทะลัก


บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(20 ม.ค.66) ว่า กลุ่มแบงก์รายงานงบวานนี้ออกมาต่ำคาด โดยตั้งสำรองเพิ่มขึ้น และธนาคารพาณิชย์อื่นๆจะทยอยประกาศวันนี้ มองว่ากลุ่มธนาคารวันนี้จะได้รับ Sentiment เชิงลบ แต่กลุ่มทีได้ประโยชน์จากสำรองที่เพิ่ม คือกลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) อาทิ BAM, CHAYO, JMT โดยแนะหุ้นแนะนำ JMT, CHAYO หุ้น Top pick 

สำหรับ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT แนะนำราคาพื้นฐาน 73.0 บาท คาดว่ากำไรไตรมาส 4/65 ของ JMT จะทำสถิติสูงสุดใหม่ในช่วง 600-700 ล้านบาท  โดยได้รับแรงหนุนจาก 1.) การเก็บเงินสดที่แข็งแกร่งขึ้นเทียบไตรมาสก่อนหน้า และ  เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาส 4/65 จากผลกระทบตามฤดูกาล 2.) ความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นจากการประหยัดต่อขนาดที่สูงขึ้น 3.) ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ลดลงในงวดไตรมาส 4/65 และ 4. ส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นของ JK AMC เนื่องจากบริษัทจะเข้าซื้อหนี้เสีย (NPL) โดย JMTมองว่ามี upside จากการร่วมทุนกับธนาคารพาณิชย์ และอุปทาน NPL ที่เพิ่มขึ้นจากสถาบันการเงินในปี 66 จะเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้น

ส่วน บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO แนะนำราคาพื้นฐาน 8.9 บาท คาดว่ากำไรได้ถึงจุดต่ำสุดแล้วในงวดไตรมาส 3/65  และจะดีขึ้นอย่างมากทั้งเทียบไตรมาสก่อนหน้า และเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนในงวดไตรมาส 4/65 โดยได้แรงหนุนจาก 1.) กำไรจากกรขายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ขนาดกลางที่ประมาณการไว้ที่ 16 ล้านบาท ในงวด ไตรมาส 4/65 2.) การจัดเก็บเงินสดเพิ่มขึ้นจากพอร์ตหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ที่ไม่มีหลักประกันเป็น 75 ล้านบาท  จาก 72 ล้านบาท ในงวดไตรมาส 3/65 และ 3.ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่คาดทรงตัว เทียบไตรมาสก่อนหน้า หรือลดลงเล็กน้อยจากในงวดไตรมาส 3/65 จากการเก็บจัดเงินสดที่ดีขึ้นจากพอร์ต NPL ที่ไม่มีหลักประกันซึ่งได้มาในในงวดไตรมาส 4/65

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า KBANK ประกาศงบไตรมาส 4/65 ต่ำกว่าตลาดคาดจากการตั้ง ECL สูง 138% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, โต 129% เทียบไตรมาสก่อนหน้า และ NPL ratio ปรับตัวขึ้น 12% เทียบไตรมาสก่อนหน้ามาที่ 3.19% จาก 3.07% มอง sentiment บวกต่อ JMT มีโอกาสรับโอนหนี้เสียเข้ามาสู่ JK AMC มากขึ้นในปี 66 (เป็นหนึ่งในการบริหาร NPL ratio ระยะสั้นของ KBANK)

อนึ่งก่อนหน้า ธนาคารกสิกรไทย ผนึก JMT จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) ทุนจดทะเบียน 1 หมื่นล้านบาท หวังรับซื้อหนี้เสียทะลักเข้าระบบจากพิษโควิด พร้อมตั้งเป้าปีแรกซื้อ 3 หมื่นล้านบาท ปี 68 เพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท ดันเป็นผู้นำอันดับ 1 ธุรกิจบริหารสินทรัพย์

ดังนั้นหากดูจากงบการเงินของ KBANK ในช่วงไตรมาส 4/65 มีการตั้งสำรองหนี้มากถึง 2.3 หมื่นล้าน โอกาสจะเกิดหนี้เสียหรือ NPL มีมากเช่นกัน เนื่องจากลูกหนี้บางรายยังไม่สามารถมีกำลังชำระหนี้ได้แม้ว่าสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้วก็ตาม ทั้งนี้จะทำให้เป็นผลบวกต่อ JMT ที่ได้หนี้มาบริหารเพิ่มขึ้นในอนาคต

ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) หรือเครดิตบูโร เปิดเผยว่า สำหรับตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 88% ของจีดีพี (16.7 ล้านล้านบาท) แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนได้ผ่านจุดเลวร้ายระดับ 90% ของจีดีพี

แต่ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของจีดีพี ยังคงถือว่าอยู่ในระดับอันตราย ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้หนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับ 70% ของจีดีพี แต่อาจจะต้องใช้เวลา 7-10 ปี ในการแก้ปัญหา เนื่องจากหนี้ครัวเรือนจะลดลงได้ ประเด็นสำคัญคือเศรษฐกิจต้องขยายตัวเร็ว และหนี้จะต้องโตช้ากว่า

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของ NCB ที่มีสมาชิกทั้งสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) รวมทั้งสิ้น 126 ราย ทางข้อมูลเครดิตแห่งชาติจึงมีฐานข้อมูลหนี้ครัวเรือนอยู่ 13 ล้านล้านบาท ด้วยจำนวนลูกหนี้ 32 ล้านคน

โดยจากข้อมูล ณ ไตรมาส 3/65 พบว่า มีตัวเลขหนี้เสีย (NPL) คือค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.4% ซึ่งเป็นจำนวนลูกหนี้ประมาณ 5-5.5 ล้านคน ซึ่งคือกลุ่มที่กู้แล้วผ่อนหนี้ไม่ได้ และไม่สามารถกู้เพิ่มได้

สำหรับข้อมูลของ NCB จะครอบคลุมทั้งแบงก์และน็อนแบงก์ ทำให้ตัวเลขหนี้เสียแตกต่างจากที่ ธปท.ประกาศ ซึ่งเป็นหนี้เสียเฉพาะในส่วนของธนาคารพาณิชย์

Back to top button