คัด 20 หุ้นเด่น Outperform รับอานิสงส์เม็ดเงินสะพัด “ก่อนเลือกตั้ง”

คัด 20 หุ้นเด่น Outperform ตลาด รับอานิสงส์เม็ดเงินสะพัด หลังมีการโปรดเกล้าฯ กฎหมายลูก 2 ฉบับเพื่อใช้เลือกตั้ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.66 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศเผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ที่จะนำมาใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว และคาดว่าประเด็นดังกล่าวจะได้ประโยชน์หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตามการวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ดังนี้

บริษัท หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ว่า ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศเผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ที่จะนำมาใช้ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว หลังจากนี้ กลไกการเลือกตั้งใหญ่ ประกอบด้วย 2 แนวทาง คือ

1) พล.อ.ประยุทธ์ฯ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาก่อนสมัยรัฐบาลจะสิ้นสุด 23 มี.ค.66 กรณีดังกล่าว จะต้องมีการจัดเลือกตั้งภายใน 45-60 วันนับจากวันยุบสภา

2) รัฐบาลปัจจุบันอยู่จนครบสมัยในวันที่ 23 มี.ค. 66 จะต้องมีการจัดเลือกตั้งภายใน 45วัน นับจากมีกฤษฎีกาการเลือกตั้งหรือปัจจุบันที่ กกต. กำหนดไว้ในวันที่ 7 พ.ค.66

ทั้งนี้จิตวิทยาบวกต่อหุ้นมัก Outperform ก่อนการเลือกตั้ง (KBANK, SCB, ADVANC, INTUCH, SC, SIRI, MAKRO, CPALL, KTC, AMATA, MINT, STEC, BEC) และ Election Play (STPI, PR9, NWR, ITD)

 บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ว่า ภายใต้ภาวะตลาดหุ้นที่มอง SET ยังมี Upside จำกัด จากแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/65  ของ real sector ที่คาดจะออกมาอ่อนแอ และมี Valuation ตึงตัว จึงแนะนำ “Selective Buy” ในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว โดยเน้นรอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว ไม่ไล่ราคา อาทิ หุ้นที่คาดได้รับอานิสงส์เม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากการเข้าใกล้สู่ช่วงการเลือกตั้งของไทย เลือก BEC,CENTEL,CPN,MAJOR

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 และพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไป (29ม.ค.65) หลังจากที่ พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ ขณที่วาระการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร์ จะครบกำหนดวันที่ 23 มี.ค.66 ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องต่างๆ สามารถเดินหน้าปฏิบัติตามเกณฑ์ต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้การเลือกตั้งจะมีบัตรลงคะแนน 2 ใบ คือ บัตรเลือกตั้งในระบบเขต ซึ่งจะมี ส.ส.ทั้งหมด 400 คน และ บัตราเลือกตั้งในระบบพรรค (Party List) มีจำนวน ส.ส. 100 คน

ในส่วนของการเลือกตั้งระบบเขต กกต. จะดำเนินการแบ่งเขตการเลือกตั้ง ใช้เวลาประมาณ 25 วัน โดย 5-7 วันแรก กกต. จังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้ง(เสนอเข้ามา 3 แบบ) หลังจากนั้นใช้เวลา 10 วัน ในการรับฟังความเห็นจากประชาชนและพรรคการเมือง ส่วนขั้นตอนสุดท้ายใช้เวลาประมาณ 7 วัน ให้กกต.ชุดใหญ่พิจารณาเลือกขั้นสุดท้าย 1 แบบ กระบวนการนี้ใช้เวลาราว 25 วันในด้านของพรรคการเมือง กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินกระบวนการ คัดสรรตัวผู้ลงสมัคร (Primary Vote) ซึ่งในกระบวนการนี้ใช้เวลาราว 20 วัน

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในแต่ละชั้นตอน สามารถกระชับเวลาให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดได้เนื่องจากทั้งในส่วนของ กกต. ผู้จัดการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ได้มีการเตรียมการเรื่องต่างๆ ล่วงหน้าไว้แล้ว ซึ่งเท่ากับว่า หลังจากนี้อีกสักระยะหนึ่ง การยุบสภาก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้หากยุบสภาก่อนที่วาระการทำงานของ สภาฯ ยังไม่หมดลง (ก่อน 23 มี.ค.66) การจัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น หลังจาก 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับจากวันที่ประกาศยุบสภาฯ แต่หากปล่อยให้วาระการทำงานของสภาฯ ครบกำหนด โดยไม่มีการยุบสภาการเลือกตั้ง ต้องจัดขึ้นภายใน 45 วัน ซึ่งในกรณีนี้ กกต. เคยได้นำเสนอ Roadmap ไว้ว่าจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.66

ส่วนกำหนดการที่สำคัญทางการเมือง จะมีการอภิปราย(รัฐบาล)ทั่วไป โดยไม่มีการลงมติวันที่ 15-16 ก.พ.66 ซึ่งเชื่อว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่ายค้าจะใช้เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งในการหาเสียง

สำหรับการตอบสนองของ SET Index เชื่อว่าจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยฯเนื่องจากกำหนดการที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งดังกล่าว ได้ถูกคาดหมายไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วแต่ปฏิกิริยาของตลาดหุ้นจะชัดเจนขึ้นอีกครั้ง เมื่อสามารถคาดการณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงผลการเลือกตั้ง และหน้าตาของรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร และมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องติดตามตอนต่อไป

Back to top button