15 มีนา…ยุบสภาแน่นอน?

15 มีนา...ยุบสภาแน่นอน? เปิดที่มา และความเป็นไปได้จาก “ไทม์ไลน์” การเมือง


กลายเป็นเรื่องฮือฮากันทั้งประเทศกับการออกมาประกาศแบบเสียงดังฟังชัดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงวันจัดการเลือกตั้งใหญ่ หลังรัฐบาลใกล้ครบวาระการทำงาน โดยให้ยึดตามไทม์ไลน์ของ กกต.ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566

แม้คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังไม่ได้เอื้อนเอ่ยแบบชัดๆว่า วันที่จะประกาศยุบสภาจะเป็นห้วงเวลาใด ต้นเดือน กลางเดือน หรือใกล้ๆปลายเดือนมีนาคม และจะใช่ฤกษ์วันธงชัย ตามที่มีการคาดการณ์หรือไม่ วันนี้ทีม “ข่าวหุ้นธุรกิจ” มีคำตอบ

เมื่อกางไทม์ไลน์ดูเรื่องปฏิทินทางการเมืองในแบบใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ ที่จริงแท้แน่นอนว่า การยุบสภาจะต้องเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม และหากยึดวันเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม นับถอยหลังเวลาตามกรอบที่มาตรา 130 ของรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเวลาไว้ว่า หากมีการยุบสภาฯเกิดขึ้น ต้องจัดเลือกตั้งภายใน 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นั้นเท่ากับว่า การประกาศยุบสภาของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งของเดือนมีนาคม

แต่ไม่ใช่ช่วงต้นเดือนมีนาคมเป็นแน่แท้ เพราะตามปฏิทินทางการเมืองในวันที่ 3 มีนาคมที่จะถึงนี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยประเด็นที่ กกต.แบ่งเขตการเลือกตั้งด้วยการนับจำนวนประชากรที่รวมถึงบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้ามา จนทำให้มีผลจำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดที่เปลี่ยนแปลงไป  โดยเฉพาะ 4 จังหวัดที่มีบุคคลต่างด้าวอาศัยอยู่จำนวนมาก ได้แก่  ตาก, เชียงราย, เชียงใหม่ และ สมุทรสาคร

จากเหตุผลข้างต้นทำให้เข้าใจได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องเผื่อเวลาเอาไว้  เพราะหากคำตัดสินออกมาเป็นลบ กกต.ต้องมีการแก้ไขการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอย่างน้อยต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ทำให้การกำหนดวันยุบสภาในวันที่ 8 มีนาคมอาจเป็นไปได้ยาก จึงเป็นที่มาที่มีการคาดการณ์ว่า เวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นวันที่ 15 มีนาคม 2566 ที่จะมีการประกาศยุบสภา ซึ่งพอดิบพอดีกับในวันดังกล่าวเป็นวันธงชัย ซึ่งถือเป็นฤกษ์ที่ดีตามสไตล์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีความเชื่อในเรื่องนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

 

ซึ่งหากวันที่ยุบสภาเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์คือวันที่ 15 มีนาคม 2566 เรื่องของการเลือกตั้งเองก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 เพราะยังอยู่ในกรอบเวลาที่ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้ง ภายใน 45-60 วัน หลังจากที่ยุบสภา ซึ่งไม่ว่าจะมีการยุบสภา หรือสภาฯ ครบวาระ ก็คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้อย่างแน่นอน

เนื่องจากก่อนหน้านี้เดิมที กกต.ได้มีการกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 7 พฤษภาคม ได้มีการอ้างอิงเรื่องของกรณีครบวาระ ในวันที่ 23 มีนาคมเมื่ออายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง // โดยในวันที่ 30 มีนาคมจะเป็นวันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ // และในวันที่ 31 มีนาคม ทาง กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งก็คือ 7 พฤษภาคม

ต่อจากนั้นวันที่ 3-7 เมษายน จะประกาศกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.  //  วันที่ 11 เมษายน จะเป็นวันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง และประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง //  วันที่ 14 เมษายน ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. // และวันที่ 30 เมษายน เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตเลือกตั้ง // วันในเดือนพฤษภาคมนั้น ในวันที่ 1-6 พฤษภาคม จะเป็นการแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และในวันที่  7 พฤษภาคม จะเป็นวันเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

โดยหลังจากนี้ทาง รัฐบาลได้คาดว่า การประกาศผลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน น่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และหลังจากนั้นในขั้นตอนต่อไปในการเลือกนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะเกิดขึ้นปลายเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นจะจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาณตน โดยคาดว่าใช้เวลาถึงต้นเดือนสิงหาคม

Back to top button