“ภูมิใจไทย” ประกาศคว่ำ“พ.ร.ก.อุ้มหาย” ยันไม่เกี่ยวกับกม.กัญชา

“พรรคภูมิใจไทย” ประกาศคว่ำ พ.ร.ก.ชลอการใช้กฎหมายอุ้มหาย ยืนยันไม่เกี่ยวกับ “ร่างพ.ร.บ.กัญชา” ที่ถูกสกัด


วันที่ 28 ก.พ.2566   นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาเปิดเผยถึงมติของพรรคภูมิใจไทยในการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยบอกว่า พรรคภูมิใจไทยจะลงมติไม่เห็นชอบ เพราะเห็นว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ ไม่ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และมีเงื่อนไขบางประการที่ไม่สามารถทำได้

ทั้งนี้ หากสุดท้ายสภาไม่อนุมัติ คงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยเร็ว อีกทั้งสิ่งสำคัญคือเรื่องของสิทธิและเสรีภาพประชาชนในกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัว รวมถึงการจัดสรรงบประมาณซื้ออุปกรณ์ให้กับเจ้าหน้าที่

สำหรับมติไม่เห็นชอบของพรรคภูมิใจไทยนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.กัญชา ที่ไม่ผ่านสภา โดยให้เหตุผลว่าเรื่องดังกล่าว มีความกังวลมาจากสมาชิกที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงในกรรมาธิการบางคณะยังเคยออกหนังสือไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. มาแล้ว รวมทั้งยังเคยเชิญสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาชี้แจง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่เองก็บอกว่า มีความพร้อม จึงย้ำว่าไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.กัญชา เพราะได้ปลดล็อกให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกกฎหมายไปแล้ว จึงเป็นคนละเรื่องกัน

ทั้งนี้เจตนาของพรรคภูมิใจไทย คือ อยากให้ได้อภิปรายและลงมติ ส่วนมติของวิปรัฐบาลนั้น นายศุภชัย มองว่าที่ผ่านมาก็มักไม่ได้ใช้มติวิปรัฐบาลกันสักเท่าไหร่ พรรคภูมิใจไทยเอาประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง ส่วนกรอบเวลาพิจารณาเรื่องนี้นั้นประธานสภาฯจะต้องส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน โดยอาจจะต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ เว้นแต่มีการยุบสภาเกิดขึ้น

ส่วนทางด้าน  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า หากจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พ.ร.ก.นี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่  ต้องยื่นคัดค้านก่อนที่จะมีการพิจารณา หรือ ก่อนการอนุมัติ พ.ร.ก.  หากมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาต้องสั่งให้ยุติการพิจารณาจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย  และตามกรอบเวลาประธานสภาจะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และตราบใดที่ยังไม่มีการอนุมัติจากสภา หรือยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ผลบังคับใช้ พ.ร.ก.ก็ยังมีอยู่ตลอด โดยช่วงระยะเวลาเป็นปัจจัยที่จะตัดสินใจต่อการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้พรรคฝ่ายค้านคาดหวังว่าสภาควรจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอนุมัติ พ.ร.ก.หรือไม่  หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรอนุมัติ  ก็ไม่ควรยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับจุดยืนของพรรคฝ่ายค้านคือไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ดังกล่าว เพราะเห็นว่ากระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้สมัยประชุมสภาจะปิดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หากจำเป็นต้องเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าว  ต้องมีเงื่อนไขว่ายังมีรัฐบาลอยู่ และจะต้องเปิดภายในอายุของสภาคือวันที่ 23 มีนาคม 2566 เท่านั้น หากหมดอายุสภาแล้วก็ไม่สามารถเปิดสมัยวิสามัญได้

Back to top button