“ศาลปกครองสูงสุด” ยกฟ้อง BTSC หลังเรียกค่าเสียหายคดี“สายสีส้ม”
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนยกฟ้อง BTSC หลังจากที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มสายสีส้ม
วันที่ 1 มี.ค. 2566 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา ในคดี หมายเลขที่ อ.572/2565 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด มหาชน หรือ BTSC ยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่าง รัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวก รวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย (คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน และวิธีการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตก การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการ การเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้อง
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปรากฏ ข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศเชิญชวนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เหตุแห่งความเดือดร้อนหรือ ความเสียหายจากคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงหมดสิ้นไปแล้ว
ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหา ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอตามคำฟ้องเพิ่มเติม ได้แก่ ค่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และ ที่ปรึกษาทางกฎหมาย นั้น ศาลฯ เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการค้าตามปกติ ของผู้ฟ้องคดี เเละผู้ฟ้องคดีไม้ได้เเสดงให้ศาลเห็นว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าว เมื่อค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างที่ปรึกษาทางเทคนิค และที่ปรึกษาทางกฎหมายของผู้ฟ้องคดีมิใช่ค่าเสียหาย โดยตรงจากการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง กรณีจึงไม่อาจถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้เเก่ผู้ฟ้องคดีได้
ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ว่าการดำเนินการของ รฟม และคณะกรรมการ ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ละเมิดผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด