“กรณ์” มั่นใจเศรษฐกิจไทย ไม่กระทบวิกฤต SVB
“กรณ์” อดีตรมว.คลัง ออกมายืนยันว่าวิกฤตเศรษฐกิจ SVB ที่สหรัฐฯ จะไม่กระทบต่อระบบการเงินของไทยที่มีความแข็งแกร่งในตอนนี้
นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ในฐานะอดีต รมว.คลัง กล่าววันนี้ (15 มี.ค. 66) ถึงกรณี 2 ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB และ Signature Bank ล้มกะทันหัน สร้างความตื่นตระหนกต่อเศรษฐกิจไปทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยก็มีความกังวลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินของเราหรือไม่
โดยมองว่า ปรากฎการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่จากบทเรียนในอดีตทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการวางแผนรองรับไว้อย่างดี ส่งผลให้สถาบันการเงินของไทยแข็งแกร่งที่สุดในโลก จึงอยากให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อลูกค้าของสถาบันการเงินอย่างแน่นอน
นายกรณ์ ยังได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาต่อการล่มสลายของธนาคาร SVB ว่า SVB ก่อตั้งมาเกือบ 40 ปี แต่มาเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤติโควิด เนื่องจากฐานลูกค้าเป็นกลุ่มธุรกิจสายเทคถึง 30,000 ราย สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้ากระจุกตัวอย่างมาก ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 จากเดิมที่มีฐานเงินฝากอยู่ที่ 50,000 ล้านเหรียญ ช่วงต้นปี 2022 ฐานเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 190,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 300% ซึ่งเร็วกว่าสถาบันการเงินอื่นที่เพิ่มขึ้นเพียง 30% เท่านั้น เหตุผลเกิดจากช่วงโควิด-19 มีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มีการระดมทุนของบริษัทสายเทคบูมมาก มีเงินไหลเข้า SVB มาก จนปล่อยกู้ไม่ทัน จึงนำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งในอดีตสามารถทำได้
รวมถึงปกติธนาคารต้องมีความระมัดระวังเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินฝากกับเงินลงทุน และส่วนใหญ่จะลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น แต่เนื่องจากช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก SVB จึงนำเงิน 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐไปลงทุนในพันธบัตรระยะยาว 10 ปี เพื่อหวังผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น พอลงทุนไปก็เกิดปรากฏการณ์หลายเรื่องพร้อมกัน จนนำไปสู่การล้มละลายในที่สุด
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาพอช่วงโควิด-19 ผ่านไป ราคาหุ้นของลูกค้า SVB เริ่มปรับลดลง เริ่มมีการถอนเงินฝากในปริมาณที่สูงกว่าที่ธนาคารคาดไว้ ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงมีนโยบายออกมาต่อสู้ โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เพื่อลดอุปสงค์ของเงิน แต่อัตราการปรับเพิ่มขั้นดอกเบี้ยถึง 4% ส่งผลกระทบต่อการลงทุนพันธบัตรที่ธนาคารไปลงทุนไว้ ทางการเงินเรียกว่าขาดทุนทางบัญชีเนื่องจากยังไม่ได้ขาย เพราะหากฝากไว้ครบ 10 ปี ยังได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงอยู่ แต่SVB จำเป็นต้องขายพันธบัตรเนื่องจากขาดสภาพคล่อง จึงทำให้เกิดภาวะขาดทุนจริงถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงมาก เป็นสาเหตุต้องพยายามเพิ่มทุน 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่ออุดช่องโหว่ ทำให้ลูกค้าธนาคารเริ่มเกิดความกังวลจนแห่ไปถอนเงิน จนเงินหมด ทำให้เฟดต้องเข้ามาจัดการโดยการปิดกิจการ SVB ในที่สุด
สำหรับเรื่องดังกล่าว ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีเพียงบางกองทุนที่ไปซื้อหุ้นในต่างประเทศ ซึ่งพวกนั้นถือพันธบัตรของ SVB บ้างแต่น้อยมาก ไม่สามารถส่งผลกระทบกับระบบการเงินของไทยได้เลย วันนี้ตนเองขอพูดได้เลยว่า สถาบันการเงินไทยเข้มแข็งมาก สัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเข้มแข็งกว่าสถาบันการเงินใดในโลก และยังมีการคุ้มครองเงินฝาก โดยธนาคารจ่ายค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากมาโดยตลอดเพื่อเก็บไว้คุ้มครองคนไทย ที่รายละ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อสถาบันการเงินอีกด้วย ถ้าถามว่าปรากฎการณ์ SVB ให้บทเรียนอะไรกับประเทศไทย คำตอบคือ การบริหารความเสี่ยง ซึ่งประเทศไทยได้สรุปบทเรียนและวางแผนไว้อย่างรัดกุมแล้ว ไม่ต้องห่วงและไม่ต้องไปถอนเงิน