หุ้น “โรงกลั่น” บวกคึก! TOP นำทีมเด้ง 3% รับน้ำมันฟื้น-ลุ้นรายได้ปีนี้แตะ 4 แสนล้าน
หุ้น “โรงกลั่น” บวกคึก! TOP นำทีมเด้ง 3% รับน้ำมันฟื้น-ลุ้นรายได้ปีนี้แตะ 4 แสนล้าน ไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุง พร้อมเดินเครื่องเต็มกำลัง 3 แสนบาร์เรลต่อวัน ดันยอดขายน้ำมันปีนี้โต 4-5%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 มี.ค.66) ราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นราคาปรับตัวขึ้น โดย ณ เวลา 11:06 น.บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP อยู่ที่ระดับ 51.25 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 3.02% สูงสุดที่ระดับ 51.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 50.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 284.24 ล้านบาท
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ณ เวลา 11:07 น. อยู่ที่ระดับ 2.58 บาท บวก 0.04 บาท หรือ 1.57% สูงสุดที่ระดับ 2.60 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.56 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 155.90 ล้านบาท
บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ณ เวลา 11:09 น. อยู่ที่ระดับ 10.40 บาท บวก 0.30 บาท หรือ 2.97% สูงสุดที่ระดับ 10.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 10.30 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 41.07 ล้านบาท
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ณ เวลา 11:10 น. อยู่ที่ระดับ 31.00 บาท บวก 2.48 บาท หรือ 2.48% สูงสุดที่ระดับ 31.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 30.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 135.06 ล้านบาท
บล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(22 มี.ค.66) โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 2% ในวันอังคาร (21 มี.ค.) ซึ่งเป็นการปิดในแดนบวกติดต่อกันวันที่ 2ขานรับข่าวธนาคารยูบีเอสบรรลุข้อตกลงซื้อกิจการเครดิต สวิส ซึ่งข่าวดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลว่าวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงก่อนหน้านี้มาจากผลกระทบวิกฤตธนาคาร ซึ่งหลังจากความกังวลลดลงคาดว่าราคาน้ำมันจะเริ่มปรับตัวขึ้น (ล่าสุดBrent 74.9 เหรียญ/บาร์เรล ดีต่อ PTTEP, PTT และหุ้นโรงกลั่นน้ำมัน (TOP)
ด้าน นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ในปี 2566 มั่นใจธุรกิจโรงกลั่นฯ จะเติบโตดีมากจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น รายได้ปีนี้จะกลับสู่ระดับปกติที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ 5.3 แสนล้านบาท มาจากราคาน้ำมันที่สูงผิดปกติ ซึ่งในปีนี้ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์จะอยู่ที่ 8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนที่ 10.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากปกติจะอยู่ที่ระดับ 5-6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้คาดว่าในช่วงครึ่งแรกปีนี้มาร์จิ้นยังดี
ส่วนแนวโน้มธุรกิจน้ำมันในปี 2566 จะเติบโตได้ดี จากความต้องการใช้น้ำมันทุกประเภทปรับสูงขึ้น ตามทิศทางความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่ปรับสูงขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่ายอดขายน้ำมันในปีนี้จะเติบโต 4-5% และน้ำมันอากาศยานจะเติบโตมากกว่า 50% เมื่อเทียบปีก่อน โดยในปีนี้โรงกลั่นฯ ของไทยออยล์ไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุง จะเดินเครื่องกลั่นเต็มกำลังที่ 3 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีปีนี้ คาดว่ายังเป็นปีที่ท้าทายหลังจากมีซัพพลายใหม่เข้ามาเพิ่ม จึงเป็นแรงกดดันสเปรดปิโตรเคมีทั้งโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ ทั้งนี้ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 80-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับในปี 2566 คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จตามแผน เมื่อโครงการเสร็จจะมีกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยจะเป็นการกลั่นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน (เจท) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าการกลั่น (GRM) จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4-5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากการกลั่นน้ำมันที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น
โดยเป้าหมายหลักในปี 2566 จะเป็นการเร่งดำเนินโครงการสำคัญตามแผนกลยุทธ์ เช่น โครงการ CFP ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดไปต่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย พร้อมทั้งเร่งศึกษาในการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และแสวงหาโอกาสเข้าสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น ธุรกิจสารเคมีที่ใช้เพื่อการยับยั้งและกำจัดเชื้อโรค รวมถึงสารลดแรงตึงผิวที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด (Disinfectants & Surfactants)
โดยแผนขยายการลงทุนของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2568) ภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยเงินลงทุนครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จะใช้สำหรับลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้างแล้ว 90% คาดว่าจะเสร็จตามแผนปี 2568 แต่บริษัทจะเร่งแผนก่อสร้างเพื่อให้หน่วยผลิตน้ำมันดีเซล มาตรฐานยูโร 5 เสร็จก่อนกำหนด โดยจะแล้วเสร็จในต้นปี 2567 ตามที่กฎหมายบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5
ขณะที่ เงินลงทุนอีกประมาณ 270 ล้านเหรียญสหรัฐ จะใช้ลงทุนในโครงการ Petrochemical Complex แห่งที่ 2 (CAP2) กับทาง PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ในประเทศอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามปัจจุบันตลาดปิโตรเคมียังเป็นช่วงขาลง มาร์จิ้นไม่ดี การจะลงทุนโรงงานแห่งที่ 2 ในอินโดนีเซีย จะต้องตัดสินใจให้รอบคอบ คาดว่าจะ FID ในช่วงปลายปีนี้ ส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะใช้สำหรับการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการในอินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น
นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ สานต่อการทรานส์ฟอร์มธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ตามเส้นทางยุทธศาสตร์หลัก 3V คือ 1.Value Maximization ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเลียมไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Products) 2.Value Enhancement เสริมความแข็งแกร่งในประเทศ ขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค รองรับการเติบโตของธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในอนาคต รวมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น และ 3.Value Diversification ลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีมูลค่าสูง (High Value Business) และธุรกิจ New S-Curve อื่น ๆ ให้สอดคล้องต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก
นอกจากนี้ จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บริษัทจึงได้ปรับเป้าหมายธุรกิจกลุ่มไทยออยล์ในปี 2573 สัดส่วนกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอยู่ที่ 40% ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ต่อยอดจากปิโตรเคมี 30% ธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจใหม่ ๆ 25% และธุรกิจไฟฟ้า 5% เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC คาด ปี 66 จะเข้าสู่โหมดของการฟื้นตัว หรือพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ หลังจากปีก่อนขาดทุนสุทธิไปถึง 4,363 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจโรงกลั่นปีนี้จะไม่มีการปิดซ่อมบำรุงรอบใหญ่เหมือนในไตรมาส 4/65 แล้ว ทำให้คาดว่าไตรมาส 1/66 อัตราการใช้กำลังการผลิต (u-rate) จะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ราว 93% หรือคิดเป็นปริมาณการกลั่นน้ำมันรวมอยู่ที่ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน สูงขึ้นจากทั้งปี 65 ที่อยู่ในระดับ 175,000 บาร์เรลต่อวัน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 81%
โดยค่าการกลั่นแม้ลดลงจากปีก่อนที่เป็นปีผิดปกติจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เพราะ crude premium ที่ลดลงช่วยลดผลกระทบของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (spread) ที่ปรับตัวลงสู่ระดับปกติ ขณะที่คาดส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทั้ง Spread gasoline, gasoil, HSFO น่าจะฟื้นตัวดีขึ้น จากจีนเปิดประเทศหนุนความต้องการใช้
ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีก็จะฟื้นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ specialty เป็น 33% จากปีก่อนอยู่ที่ราว 22% ซึ่งมี spread สูงกว่า commodity grade ราว 10-30% เจาะกลุ่มลูกค้าทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์, การแพทย์, อิเล็กทรอนิกส์, ก่อสร้าง ขณะที่มองครึ่งปีแรกของปีนี้ spread ผลิตภัณฑ์หลักอย่าง HDPE, PP, ABS ก็จะฟื้นตัวจากไตรมาส 4/65 ตามการเปิดประเทศของจีน
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โนมูระฯ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/66 ของ IRPC คาดว่าจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/65 เพราะไม่มีแรงฉุดของ stock loss, ไม่มีการปิดซ่อมใหญ่โรงกลั่น ทำให้ปริมาณขายเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายลดลง รวมถึง spread ปิโตรเคมีหลักอย่าง PP, ABS, HDPE ฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามความต้องการใช้จีนฟื้น หลังเปิดเมือง
ภาพทั้งปี 66 คาดจะพลิกมีกำไรสุทธิ มาที่ 544 ล้านบาท เพราะไม่มี hedging loss ก้อนใหญ่มาฉุดเหมือนปี 65, spread ปิโตรเคมีบางส่วนฟื้นตัวตาม demand จีน และอัตรากำไรธุรกิจโรงไฟฟ้าฟื้นตัว กลบต้นทุนคงที่ได้
คงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 3.80 บาท มองราคาหุ้นปัจจุบันที่ซื้อขาย PBV ราว 0.8 เท่า อยู่ในระดับ -1.0-1.5 S.D. ได้สะท้อนแนวโน้มขาดทุนในครึ่งปีหลังของปีก่อนไปแล้ว และเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของ spread โอเลฟินส์ ตามความต้องการใช้ในจีนที่เริ่มฟื้นตัว มองสามารถทยอยสะสมรับการ turnaround ของผลประกอบการในไตรมาส 1/66 และปี 66