ศาลสั่ง “กรมที่ดิน” ลุยสอบ “เขากระโดง” สะเทือนตระกูลดังบุรีรัมย์

นับจากนี้อีก 15 วันต้องจับตาการทำงานของกรมที่ดิน เคลียร์ปมพิพาท “เขากระโดง” ที่ รฟท.อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว หลังศาลปกครองพิพากษาว่ากรมที่ดินละเลยต่อการปฎิบัติหน้าที่ และให้เร่งสอบตามมาตรา 61 ตามกฎหมายที่ดิน


ถือเป็นมหากาพย์ยืดเยื้อยาวนานสำหรับที่ดิน “เขากระโดง” ที่เกิดขึ้นระหว่างราษฎรบุรีรัมย์ กับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ตั้งแต่ปี 2515 มาจนถึงปัจจุบัน นำไปสู่การใช้กระบวนการทางกฎหมาย ตั้งแต่การยื่นเรื่องให้กรมที่ดินตรวจสอบ การขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และการยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลยุติธรรม

แต่แม้ รฟท. จะใช้สิทธิทางกฎหมาย เพื่อรักษาประโยชน์ในที่ดินบริเวณเขากระโดงกว่า 5,083 ไร่ แต่ดูเหมือนเรื่องดังกล่าวกับมีอุปสรรคต่อการตรวจสอบ และทวงกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวกลับคืนมา เพราะในที่ดินผืนนี้เต็มไปด้วยที่อยู่อาศัยและธุรกิจของครอบครัวนักการเมืองตระกูลดังในจังหวัด จนทำให้ รฟท. นำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้กรมที่ดิน ซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทย ใช้อำนาจที่ตัวเองมีดำเนินการตรวจสอบ ถึงการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ “เขากระโดง” พร้อมกับการเพิกถอนโฉนดที่ได้มาโดยมิชอบ

จึงเป็นที่มาที่ ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษา ให้กรมที่ดิน และอธิบดีผู้มีอำนาจละเลยต่อการปฎิบัติหน้าที่ และให้ดำเนินการตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งให้อธิบดี ตั้งคณะกรรมการสอบสวน และเรียกโฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารที่ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เอกสารที่ได้จดแจ้งรายการทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ ในแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้คัดค้าน โดยต้องให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ภายหลังจากศาลมีคำพิพากษา ทางด้านของ นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน  เตรียมจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในวันที่ 31 มี.ค.66 ในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายของกรมที่ดิน เพื่อพิจารณาว่าจะต้องมีการอุทธรณ์หรือไม่ พร้อมกันนี้จะมีการวางแนวปฏิบัติสำหรับการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 ซึ่งจะให้ผู้ตรวจราชการกรมที่ดินเป็นประธาน  ซึ่งคณะกรรมการฯชุดนี้จะเป็นผู้พิจารณาว่าเอกสารสิทธิ์ที่ออกไปผิดพลาด และต้องมีการเพิกถอนหรือไม่ โดยกรอบระยะเวลาการทำงานต้องสอบให้เสร็จภายใน 60 วัน และยังสามารถขยายได้อีก 60 วัน หากยังดำเนินการไม่เสร็จ  อย่างไรก็ดีหากท้ายที่สุดแล้วมีการเพิกถอนในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ กรมที่ดินก็ต้องมาพิจารณาว่าดำเนินการออกโดยชอบหรือไม่ ต้องรับผิดทาง วินัย อาญา และละเมิด หรือไม่

พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมที่ดิน ยังชี้แจงว่าที่ก่อนหน้านี้ กรมที่ดินไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 เนื่องจากว่า โดยปกติเมื่อกรมที่ดินได้มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนและมีการเข้าทำประโยชน์แล้ว การจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะกระทำก็ต่อเมื่อได้มีกรณีต้องสงสัย หรือ มีการตรวจสอบจนมีความชัดเจนพอสมควรว่าน่าจะมีการออกเอกสารสิทธิ์โดยผิดพลาดหรือโดยไม่ชอบ เพราะถ้าตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 เจ้าหน้าที่ที่ดินจะต้องขึ้นบัญชีอายัด และติดประกาศอายัดที่สารบบที่ดิน โดยเจ้าพนักงานจะนำหมายติดไว้ว่าที่ดินแปลงนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 เพื่อให้คนที่จะมาทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าวได้ทราบ อย่างไรก็ดี เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว  จึงได้มอบหมายรองอธิบดีที่กำกับดูแลงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61

ทั้งนี้หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้นเรื่องของที่ดินเขากระโดง ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจที่พบว่าเมื่อปี 2462-2464 มีการสร้างทางรถไฟ จากจังหวัดนครราชสีมาผ่านบุรีรัมย์  ไปสุรินทร์  ศรีษะเกษ และอุบลราชธานี แต่เนื่องจากต้องหาแหล่งหิน ระเบิดหินและย่อยหิน เพื่อนำมาสร้างทาง โดยที่เจ้าหน้าที่กรมรถไฟแผ่นดินสมัยนั้น จึงสำรวจที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อทำการจัดซื้อที่ดิน ทำให้หลังจากนั้นที่ดินเขากระโดงจึงเป็นที่ของ รฟท. มีการปักหลักเขต และมีการจัดให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดูแลพื้นที่

จนกระทั่งปี 2502 รฟท. ได้เดินหน้ายื่นเรื่องขอออกเอกสารสิทธิสำคัญสำหรับ “ที่หลวง” หลังมีผู้บุกรุกเข้าไปอาศัยในพื้นที่บริเวณเขากระโดง จึงเกิดการคัดค้าน และทำให้เรื่องการออกเอกสารสิทธิต้องเลื่อนออกไป

จากนั้นจึงเกิดข้อพิพาทระหว่าง นักการเมืองชื่อดังคนหนึ่งในพื้นที่และราษฎร บุกรุกที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง ผลการเจรจา นักการเมืองคนดังกล่าวยอมรับว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิของ รฟท. และทำหนังสือขออาศัย ซึ่ง รฟท. ยินยอม และ ในปี 2515 ผู้บุกรุกพื้นที่บางราย นำที่ดินเขากระโดงไปออกโฉนด ขณะที่ผู้บุกรุกรายอื่นๆได้ขอออกโฉนดที่ดิน บนที่ดินดังกล่าวอีกหลายแปลง และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันหลายทอดในเวลาต่อมา

จนต่อมาทาง รฟท. ได้ส่งเรื่องไปยังกรมที่ดิน เพื่อขอให้เพิกถอนที่ดินของผู้บุกรุก ที่ได้มีการออกโฉนดโดยมิชอบ โดยเฉพาะที่ดินของนักการเมืองชื่อดัง  แต่ปรากฏว่ากรมที่ดินพิจารณาแล้ว มีความเห็นแย้ง กับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนด และทำให้มีประชาชนหลายราย ซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณเขากระโดง นำเอกสารสิทธิที่ดินที่มีอยู่ เช่น น.ส.3 ไปออกเป็นเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินกับกรมที่ดิน แต่กรมที่ดินไม่ออกโฉนดให้และมีการต่อสู้กันถึงศาลฎีกา โดยปี 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษา ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน และ น.ส.3 ดังกล่าว ของผู้ฟ้อง 35 ราย เนื่องจากที่ดินบริเวณเขากระโดง เป็นกรรมสิทธิของ รฟท.

Back to top button