กกต. ชี้แจง “บัตรเลือกตั้ง” มีมาตรฐาน ยันคนไม่สับสน
เลขาธิการ กกต. ชี้แจงปมข้อสังเกตเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง โดยยันยันว่า เป็นแบบมาตรฐานเหมือนกับเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณและบริหารจัดการได้สะดวก
วันที่ 1 เม.ย. 66 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงเรื่องบัตรเลือกตั้ง โดยระบุว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป พ.ศ. 2566 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าวคือ แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้จะเป็นพรรคเดียวกันแต่เป็นคนละหมายเลข(เบอร์ ) ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กกต.เป็นเพียงผู้กำหนดรูปแบบบัตรให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น
ในส่วน รูปแบบบัตรเลือกตั้ง นับแต่มีการเลือกตั้งในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน มีรูปแบบบัตรที่ใช้เลือกตั้ง อยู่ 3 ประเภท คือ
1.บัตรมาตราฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เป็นรูปแบบบัตรมาตราฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ บัตรที่มีเฉพาะหมายเลข(เบอร์)ผู้สมัคร หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าบัตรโหล จะไม่มีรายชื่อผู้สมัครแต่อย่างใด “ทุกการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในประเทศไทยใช้บัตรเลือกตั้งแบบนี้มาโดยตลอด” ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่มีเฉพาะแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือมีการเลือกตั้งแบบบัญชีราบชื่อ หลังปี 2540 ก็ตาม นั้นหมายความว่า ไม่เคยมีชื่อผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งแต่อย่างใด และไม่มีสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายพรรคการเมือง หรือชื่อ พรรคการเมืองแต่อย่างใด เพื่อป้องกันความสับสนกับบัตรแบบบัญชีรายชื่อ เพราะมีรายการดังกล่าวอยู่ในบัตรเลือกตั้ง
2. บัตรมาตราฐานแบบบัญชีรายชื่อ โดย รูปแบบบัตรมาตราฐานแบบบัญชีรายชื่อ คือ บัตรที่มีหมายเลขผู้สมัคร(เบอร์) มีสัญญลักษณ์หรือเครื่องหมายของพรรคการเมือง และมีชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง เริ่มใช้บัตรเลือกตั้งรูปแบบนี้นับแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นต้นมา ทุกการเลือกตั้งก็จะใช้บัตรเลือกตั้งนี้มาตลอด
3.บัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะ บัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะ เกิดขึ้นใน ปี 2562 เพื่อรองรับระบบเลือกตั้งแบบคะแนนไม่ตกน้ำตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ทุกคะแนนมีความหมาย บัตรเลือกตั้งรูปแบบนี้ จึงผสมกันระหว่างบัตรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ใว้ด้วยกันในใบเดียว และมี 350 แบบ ตามจำนวนเขตเลือกตั้ง ในบัตรจะประกอบด้วยข้อมูล 1)หมายเลขผู้สมัคร(เบอร์)ของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง(แบบแบ่งเขต) 2)สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายพรรคการเมือง(แบบบัญชีรายชื่อ) 3)ชื่อพรรคการเมือง(แบบบัญชีรายชื่อ) แต่ก็ไม่มีชื่อของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในบัตรแต่อย่างใด
สำหรับบัตรเลือกตั้งปี 2566 แบ่งเป็น
1.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ใช้บัตรมาตราฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา เว้น ปี 2562 ที่ใช้บัตรเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ
2. แบบบัญชีรายชื่อ ใช้บัตรมาตราฐานแบบบัตรชีรายชื่อเหมือนการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา เว้น ปี 2562 ที่ใช้บัตรเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ข้อดีของบัตรมาตราฐานแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คือมีความชัดเจนแตกต่างจากบัตรแบบบัญชีรายชื่อ นอกจากสีจะต่างกันแล้ว องค์ประกอบภายในบัตรก็จะต่างกัน ทำให้ประชนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่สับสน เพราะบัตรประเภทหนึ่งมีเพียงหมายเลข ไม่มีตัวหนังสือ และสัญลักษณ์ใด ต่างจากบัตรอีกประเภทหนึ่งมีครบทั้ง 3 อย่าง เป็นการป้องกันบัตรเสียอันเกิดจากความสับสนลักษณ์นี้อีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ยังประหยัดงบประมาณเป็นจำนวนมาก เพราะบัตรมาตราฐานพิมพ์พร้อมกันในครั้งเดียว แต่บัตรแบบเฉาะเขต ต้องสั่งพิมพ์ 400 ครั้ง ตามจำนวนเขต เมื่อปริมาณพิมพ์ต่อครั้งมีจำนวนน้อย จะทำให้ค่าพิมพ์ต่อครั้งใช้เงินจำนวนมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังสะดวกในการบริหารจัดการและใช้เวลาอันมีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากที่ต้องมาทำงานธุรการ อาทิ การส่งให้ตรงกับเขต กรณีเป็นแบบเฉพาะ ถ้าส่งผิดเขตจะใช้แทนกันไม่ได้ การพิมพ์บัตรสำรองในแต่ละเขต ก็ต้องมีสำรองครบตามจำนวนเขต เพราะใช้แทนกันไม่ได้ หรือปัญหาทางเทคนิค อาทิ ต้องปิดสมัครรับเลือกตั้งแล้ว เพื่อจะได้ชื่อผู้สมัครจึงจะดำเนินการพิมพ์ได้ เป็นต้น เรื่องเหล่านี้แม้จะทำได้ แต่นำเวลาที่จะใช้ไปกับเรื่องที่อาจไม่จำเป็นหรือเป็นประโยชน์ไปทำงานอื่นในเวลาที่มีจำกัดน่าจะทำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากกว่า