แพทย์จุฬาฯ ชี้ โควิดสายพันธุ์ “โอไมครอน XBB.1.16” แพร่เร็ว
แพทย์จุฬาฯ ออกโรงเตือนคนให้ระวังตัวจากโควิด หลังพบ “โอไมครอน สายพันธุ์ XBB.1.16” เริ่มมีการระบาดในประเทศไทย เบื้องต้นพบทีการแพร่เชื้อแล้ว หวั่นเชื้อดื้อทำให้คนติดได้ง่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจของประชาชนอีกครั้ง ภายหลังเริ่มมีการระบาดของ “โอไมครอน XBB.1.16” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่พบว่ามีการระบาดอย่างหนักในประเทศอินเดีย โดยในไทยล่าสุดพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 ไปแล้ว 8 ราย
ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุใจความว่า ลักษณะอาการของ XBB.1.16 นั้นยังไม่แน่ชัดว่าแตกต่างไปจากสายพันธุ์เดิมมากน้อยเพียงใด ข่าวจากอินเดียที่ระบุว่า มีอาการไข้สูง และเยื่อบุตาอักเสบนั้น เป็นรายงานจากการสังเกตอาการในผู้ป่วยเด็ก
ทั้งนี้ เท่าที่สืบค้นดู ยังไม่เห็นรายงานวิชาการที่รวบรวมสถิติอาการเปรียบเทียบออกมาอย่างเป็นระบบ แต่ที่แน่ ๆ และมีหลักฐานเป็นรายงานวิชาการออกมาเผยแพร่แล้วคือ ผลพิสูจน์จากห้องปฏิบัติการ ที่ชี้ชัดว่า XBB.1.16 มีสมรรถนะการแพร่ที่สูงกว่า XBB.1 และ XBB.1.5 โดยที่สมรรถนะดื้อต่อภูมิคุ้มกันพอๆกัน ซึ่งถือว่าตระกูล XBB.x นั้นถือว่าดื้อสุดเท่าที่มีการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ มาหลายปี
นอกจากนี้สถิติระบาดในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย สะท้อนชัดว่าติดกันเร็วและมาก โดยทำให้อัตราการตรวจพบผลบวกในผู้ที่มาตรวจนั้นสูงมากกว่าระลอกที่ผ่านมาด้วย ซึ่งข้อสรุปที่เราได้จากองค์ความรู้ตอนนี้คือ มีโอกาสติดง่ายขึ้น มากขึ้น และพึงระวังเสมอว่า การติดแต่ละครั้งนั้นทำให้ป่วยได้ รุนแรงได้ ลงปอดได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย การป้องกันตัวสม่ำเสมอ จะช่วยลดเสี่ยงลงไปได้มาก ทำได้ด้วยตนเองและเกิดประโยชน์ต่อทั้งตนเอง ครอบครัว และคนรอบข้างในสังคม
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ได้เผยแพร่ข้อมูลจากหน่วยงานไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ โควิด-19 และอัปโหลดแชร์บนฐานข้อมูลโควิดโลก ‘จีเสส (GISAID)’ จำนวนทั้งสิ้น 410 ตัวอย่างในช่วง 2 เดือนครึ่ง (1 ก.พ.-16 เม.ย. 2566) ที่ผ่านมา โดยมีโอไมครอน 12 สายพันธุ์ที่พบมากในประเทศไทยเรียงตามลำดับมีดังนี้
BN.1.3 68 ราย (22%)
BN.1.2 59 ราย (19%)
XBB.1.5 45 ราย (15%)
XBB.1.9.2 22 ราย (7%)
XBB.1.9.1 20 ราย (7%)
BN.1.2.3 19 ราย (6%)
CH.1.1 18 ราย (6%)
BN.1.3.6 17 ราย (6%)
BN.1.1 12 ราย (4%)
EJ.2 9 ราย (3%)
XBB.1.16 8 ราย (3%)
BA.2.75 8 ราย (3%)
โดยพบ โอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 จำนวน 8 ราย และหนึ่งในแปดพบว่ามีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมเป็น XBB.1.16.1
ขณะที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการวิเคราะห์จากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่าโอไมครอนลูกผสม XBB.1.16 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BN.1.3 ประมาณ 148% และเหนือกว่า XBB.1.5 ประมาณ 90% คาดว่าจะเข้ามาแทนที่ BN1.3 และ XBB.1.5 ได้ภายใน 2-3 เดือนจากนี้