4 หุ้นน้ำตาลวิ่งคึก! ขานรับราคาตลาดโลกพุ่ง 24 เซนต์ นิวไฮรอบ 11 ปี
4 หุ้นน้ำตาลวิ่งคึก! ขานรับราคาตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากไม่กี่วันที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 24 เซนต์ต่อปอนด์ และทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี ตามอุปสงค์ที่สูงขึ้น ประกอบกับแนวโน้มสภาพอากาศที่ย่ำแย่ลงในพื้นที่เพาะปลูกพืชให้น้ำตาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (21 เม.ย.66) ล่าสุด ณ เวลา 10:31 น. ราคาหุ้นกลุ่มน้ำตาลดีดตัวขึ้น ขานรับราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำโดยราคาหุ้น บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR อยู่ที่ระดับ 7.15 บาท บวก 0.40 บาท หรือ 5.93% สูงสุดที่ระดับ 7.20 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 6.90 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 15.62ล้านบาท
บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL อยู่ที่ระดับ 3.50 บาท บวก 0.12 บาท หรือ 3.55% สูงสุดที่ระดับ 3.54 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 3.42 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 12.04 ล้านบาท
บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS อยู่ที่ระดับ 6.55 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 3.15% สูงสุดที่ระดับ 6.65 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 6.40 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 6.55 ล้านบาท
บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS อยู่ที่ระดับ 4.14 บาท บวก 0.12 บาท หรือ 2.99% สูงสุดที่ระดับ 4.14 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.06 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 0.23 ล้านบาท
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มน้ำตาลปรับตัวขึ้น คาดได้ปัจจัยหนุนจากราคาน้ำตาลโลกที่พุ่งขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากราคาน้ำตาลซื้อขายล่วงหน้า ที่ขณะนี้อยู่ที่ระดับ 25.25 เซนต์ต่อปอนด์แล้ว จากไม่กี่วันที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 24 เซนต์ต่อปอนด์ และทำสถิติสูงสุดในรอบ 11 ปี เป็นไปตามอุปสงค์ที่สูงขึ้น ประกอบกับแนวโน้มสภาพอากาศที่ย่ำแย่ลงในพื้นที่เพาะปลูกพืชให้น้ำตาล
ขณะที่หากมองปัจจัยพื้นฐานของหุ้นกลุ่มดังกล่าว ในช่วงครึ่งปีแรกถือเป็นซีซั่นนอลด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเชื่อว่าผู้ประกอบการฯ ก็น่าจะมีการขายน้ำตาลล่วงหน้ากันไว้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ส่วนตัวชอบหุ้น BRR เนื่องจากคาดว่าในไตรมาส 1/66 จะสามารถขายได้ในราคาสูง และในครึ่งปีหลังจะมีธุรกิจพลังงาน หรือธุรกิจเชื้อเพลิงไม้อัดแท่ง (Wood Pellet) ที่คาดจะเริ่มรับรู้รายได่เข้ามา หนุนผลการดำเนินงานปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง และจะมีการออกวอแรนท์ ในช่วงกลางปี และระย 3 ปี ด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ นำเงินไปใช้ในการขยายกิจการ หรือต่อยอดธุรกิจต่อไป
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการต่างๆ ได้ออกมาประเมินต่อทิศทางของราคาน้ำตาลโลก อย่างทางด้าน Girish Chhimwal นักวิเคราะห์ด้านน้ำตาลจาก S&P ระบุว่า ปัจจัยพื้นฐานของน้ำตาลค่อนข้างดีสำหรับราคาที่จะยังคงอยู่ในระดับสูงในระยะสั้นถึงระยะกลาง โดยบ่งชี้ถึงความเสี่ยงจากสภาพอากาศส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสามารถส่งต่อไปยังผู้บริโภคในรูปของขนม ลูกอมที่มีราคาแพงขึ้น
John Stansfield นักวิเคราะห์น้ำตาลอาวุโสจากแพลตฟอร์มข้อมูลสินค้าโภคภัณฑ์ DNEXT กล่าวว่า ราคาที่เพิ่มขึ้นของขนมหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบจะเป็นการผนวกรวมเข้ากับราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น รวมถึงราคาของอาหารแปรรูปที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกด้วยเช่นกัน
เขาชี้ให้เห็นว่าส่วนผสมในช็อกโกแลตแท่งหนึ่งมีทั้ง นม ผงโกโก้ และอื่น ๆ โดยราคาต้นทุนของสิ่งเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้น ต้นทุนพลังงาน และแรงงานที่ใช้ผลิตสิ่งเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
Stansfield ระบุว่าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ฤดูหีบอ้อยในเอเชียเริ่มสิ้นสุดลง และได้เห็นการปรับลดการเพาะปลูกลงอย่างมากในประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ อย่าง อินเดีย ไทย จีน และปากีสถาน ซึ่งอินเดียถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สองของโลกรองจากบราซิล
โดยในช่วงต้นเดือนเมษายน All India Sugar Trade Association ปรับประมาณการการผลิตน้ำตาลลงเกือบ 3% สำหรับปีการเพาะปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึงกันยายน 2566 โดยอ้างถึงปริมาณน้ำฝนที่มาไม่ตามฤดูกาลในรัฐมหาราษฏระซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของผลผลิตน้ำตาลของอินเดีย
นอกจากนั้นแล้วการผลิตที่ลดลงนั้นยังเป็นผลมาจากผลผลิตพืชหัวผักกาดยุโรปที่ย่ำแย่ ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง และภัยแล้งในฤดูร้อนที่รุนแรง รวมถึงความต้องการที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากช่วงโควิด โดยข้อมูลจากองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศชี้ให้เห็นว่าประมาณ 80% ของการผลิตน้ำตาลทั่วโลกมาจากอ้อย ในขณะที่ 20% มาจากหัวบีท
Girish Chhimwal จาก S&P เตือนว่าราคาน่าจะยังอยู่ในระดับสูงราว 21-24 เซนต์ต่อปอนด์ และยังระบุว่ามีอีกหลายปัจจัยที่จะส่งผลให้ราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นได้ แม้ก่อนหน้านี้จีนอาจมีการใช้ทุนสำรองของรัฐเพื่อลดแรงกดดันในตลาดโลกก็ตาม นอกจากนั้นแล้ว การพึ่งพิงฝนจากฤดูมรสุมในเอเชียจะทำให้ตลาดน้ำตาลมีความผันผวนสูง
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์จากฟิทช์ โซลูชันส์ (Fitch Solutions) บริษัทวิจัยด้านการเงินการลงทุนระบุว่า การเก็บเกี่ยวอ้อยทางตอนใต้ของบราซิล ซึ่งคิดเป็นผลผลิต 90% ของประเทศเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน และจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม โดยที่ผลตอบแทนนั้นจะเป็นมาตรชี้วัดที่สำคัญที่จะต้องติดตาม
แมทธิว บิกกิน นักวิเคราะห์จากฟิทช์ โซลูชันส์ กล่าวว่า ราคาน้ำตาลยังคงสูงอยู่ในตอนนี้ ที่ถึงแม้ราคาจะลดลงอย่างมากเมื่อผลจากการเก็บเกี่ยวของบราซิลเข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม ราคาในระดับนั้นก็จะยังอยู่ในจุดที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยหนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันราคาน้ำตาลให้สูงนั้นก็คือ การตัดสินใจขององค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก หรือโอเปก ที่เซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการประกาศหั่นกำลังการผลิตลงราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้มีการเปลี่ยนผันผลิตภัณฑ์จากอ้อย มาเป็นเอทานอลแทน และถอยห่างออกมาจากสินค้าน้ำตาล
Chhimwal กล่าวทิ้งท้ายว่า ราคาอาหารที่แพงขึ้น ประเทศที่มีระดับความปลอดภัยด้านอาหารต่ำจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลสูงมากที่สุด เช่น ในแถบแอฟริกาเหนือ และแอฟริกาใต้สะฮาราที่มีการบริโภค และความต้องการนำเข้าน้ำตาลที่สูง