HENG วิ่งคึก 6% หลังโชว์กำไร Q1 โต 51% พอร์ตสินเชื่อเพิ่ม โบรกชูเป้า 2.24 บาท
HENG ปิดเช้าบวก 6% ขานรับงบไตรมาส 1 กำไรโต 51% ทะลุ 100 ล้านบาท อานิสงส์พอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเพิ่มขึ้น-บริหารจัดการต้นทุนลดลง ขณะที่ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุตั้งเป้าปี 66 ขยายพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 1.44 หมื่นล้านบาท คงราคาเป้าหมาย 2.24 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 พ.ค. 66) ราคาหุ้น บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG ปิดภาคเช้าอยู่ที่ระดับ 2.74 บาท บวก 0.16 บาท หรือ 6.20% สูงสุดที่ระดับ 2.78 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.60 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 50.04 ล้านบาท
นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HENG เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/66 (มกราคม-มีนาคม) บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการขยายพอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 12,801.5 ล้านบาท หรือเติบโต 6.5% เมื่อเทียบกับปลายปีก่อน มาจากขีดความสามารถการให้บริการสินเชื่อเพื่อตอบสนองความต้องการแหล่งเงินทุนของประชาชนในท้องถิ่นที่ดี โดยสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ ได้ต่อเนื่อง หลังเปิดสาขาใหม่เพิ่มเติม 152 สาขา ส่งผล ณ 31 มีนาคม 2566 มีสาขารวมทั้งสิ้น 830 สาขา
โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สามารถขยายตัวได้อย่างโดดเด่น เป็นผลให้มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 46.5% ของพอร์ตสินเชื่อที่มีหลักประกันโดยรวม ใกล้เคียงกับพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 48.5% ประกอบกับการให้บริการนายหน้าประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทำรายได้เติบโตที่ดีเพิ่มเติมอีกด้วย
ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ส่งผลให้ HENG มีรายได้รวม 640.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.9% และมีกำไรสุทธิ 100.96 ล้านบาท เติบโต 51.00% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 66.56 ล้านบาท ซึ่งมาจากกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่มุ่งขยายพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเพิ่มขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต และการมีเครือข่ายพันธมิตรเต๊นท์รถที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบกับบริหารจัดการค่าใช้จ่ายการเปิดสาขาที่มีประสิทธิภาพและบริหารต้นทุนทางการเงินที่ดี ทำให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยจากการปล่อยสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเป็น 18.1% จากปีก่อนอยู่ที่ 17.6% โดยหนี้ NPLs เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 3.1% จากเดิม 3.0%
“ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกปีนี้ของ HENG สะท้อนถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจในการให้บริการสินเชื่อเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี ตลอดจนการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เราสามารถทำกำไรสุทธิเติบโตได้อย่างโดดเด่น” นางสุธารทิพย์ กล่าว
ส่วนทิศทางการดำเนินงานไตรมาส 2/66 บริษัทฯ มั่นใจว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายจากแผนขยายสาขา เฮงลิสซิ่ง ที่จะครบ 830 สาขาภายในไตรมาสนี้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อตอบสนองความต้องการแหล่งเงินทุนของประชาชนในการนำไปประกอบอาชีพที่เพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ดี จากแรงขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดย HENG ยังคงมุ่งโฟกัสการปล่อยผลิตภัณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถเพิ่มเติม ควบคู่กับการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อบริหารคุณภาพพอร์ตลูกหนี้และหนี้ NPLs ที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีแผนพิจารณาการออกและเสนอขายหุ้นกู้ภายในปีนี้วงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้ในการให้บริการปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชน โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนแผนการดำเนินงานของ HENG ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า HENG ยังคงตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่อปี 2566 อยู่ที่ 1.44 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน) โดยมีสัดส่วนสินเชื่อ H/P ต่อสินเชื่อจํานําทะเบียนอยู่ที่ 40%/55% (เทียบกับสมมติฐานเราที่ 47%/44% และ 56%/39% ในปี 2565) ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่ เน้นที่สินเชื่อจํานําทะเบียนซึ่งอาจมี upside จากสมมติฐานประมาณการ yield ของเรา อย่างไรก็ตาม คาดกลยุทธดังกล่าวจะช่วยลดแรงกดดันด้านการเร่งตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงิน ทั้งนี้ HENG เตรียมที่จะออกหุ้นกู้ (debentures) ในไตรมาส 2/66-ไตรมาส3/66
ทั้งนี้ ผลจากการรุกขยายสาขาเพิ่มขึ้นมากและรวดเร็ว ทําให้ HENG เผชิญกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการดําเนินงานและสัดส่วน C/I ในไตรมาส 1/66 สะท้อนจากมีค่าจ้างพนักงานและค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ในแต่ละสาขาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิดสาขาใหม่อีก 152 แห่ง ทําให้จํานวนสาขาทั้งหมดรวมเป็น 830 สาขาในไตรมาส 1/66 ทั้งนี้ มองว่าสมมติฐานสัดส่วน C/I ปี 2566F ของเราไม่สูงไปที่ 50.7% (เทียบกับ 55.7% ในไตรมาส 1/66
อีกทั้งผู้บริหาร HENG คาดสัดส่วน NPLs ในไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 3.0-3.1% (เทียบกับ 3.1% ในไตรมาส 1/66) อย่างไรก็ตาม คงประมาณการการตั้งสํารองไว้เดิมด้วย credit costs ที่ 2.5% ในปี 2566 (เทียบกับ 2.4% ในไตรมาส 1/66)
ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นกดดันต่อ NIM จึงปรับลดประมาณการกําไรสุทธิปี 2566/2567 ลง 9%/5% สะท้อนถึง 1) การปรับสัดส่วนของสินเชื่อทําให้ yield เพิ่มขึ้นเป็น 18.2%/18.2% (จาก 17.6%/17.6%) 2) การปรับเพิ่มต้นทุนของเงินทุนขึ้นมาอยู่ที่ 5.2%/5.4% (จาก 4.5%/4.7%) และ3) การปรับเพิ่มสัดส่วน C/I ขึ้นอยู่ที่ 53.9%/53.8% (จาก 50.7%/50.9%) ทั้งนี้ คงราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ 2.24 บาท และยังคงคําแนะนํา Underperform สําหรับ HENG