“ณัฏฐ์ บรรทัดฐาน” วอน ปชป. โชว์สปิริตโหวต “ก้าวไกล” แบบไม่ร่วมรัฐบาล

“ณัฏฐ์ บรรทัดฐาน” สะกิดเตือน “ประชาธิปัตย์” ใช้วิถีประชาธิปไตย โหวตก้าวไกลเป็นรัฐบาล หลังประชาชนลงคะแนนให้เป็นอันดับหนึ่ง


เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ บุตรชายของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กระบุว่า “ย้อนไปในการเลือกตั้งปี 62 พรรคประชาธิปัตย์มีมติไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หนุนคุณประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยมีเหตุผลว่าทิศทางสังคมในเวลานั้นต้องการอย่างนั้น สถานการณ์การเมืองขณะนั้นเป็นทางตัน การมีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นการยุติอำนาจของ คสช. ลง และลดแรงกดดันต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในอนาคตหรือการเผชิญหน้าระลอกใหม่ถือเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมย้อนให้ดูตัวเลขซักนิดว่าเสียงในการvote เลือกนายกฯ ต้องได้ 375 (รวมสว.)

เพื่อไทย116+อนาคตใหม่81+เสรีรวมไทย10+เศรษฐกิจใหม่6+เพื่อชาติ5 = 218

เมื่อนำไปรวมกับพรรคที่สามารถเข้าร่วมรัฐบาลได้(ในทางคณิตศาสตร์)

ประชาธิปัตย์53+ภูมิใจไทย51+ชาติไทยพัฒนา10+ชาติพัฒนา2 = 116

จะได้เพียง 334

*หมายเหตุ พรรคเล็กที่เหลือผมไม่นับ เนื่องจากในทางทฤษฎี พรรคเหล่าเป็นตัวแปรที่เกิดจากการคำนวณนอกวิธีการ

จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปรวมตัวกับฝั่งที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ท้ายที่สุดพรรคประชาธิปัตย์จึงตัดสินใจไปร่วมรัฐบาลด้วยเหตุผลข้างต้น

 

มาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ ผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว และมีการประกาศจับขั้วรัฐบาลแล้ว

ก้าวไกล152+เพื่อไทย141+ประชาชาติ9+ไทยสร้างไทย6+เสรีรวมไทย1+เป็นธรรม1 = 310

ตัวเลขนี้ยังไม่เพียงพอให้ถึง 375 อยู่ดี

ดังนั้นบนตรรกะเดียวกับปี62 กระแสความต้องการของสังคมในขณะนี้ ถูกบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนจากผลคะแนนเลือกตั้ง 66 ว่าประชาชนต้องการให้ใคร พรรคการเมืองใดเข้าไปบริหารประเทศ

ในเมื่อกลไกประชาธิปไตยได้ทำงานโดยตัวของมันเองเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองหนึ่งในระบอบนี้ กฎกติกานี้ จึงไม่ควรจะเป็นตัวแปรให้เกิดการรวมเสียงของพรรคการเมืองที่ไม่ได้ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง

การประกาศสนับสนุนพรรคที่ชนะเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ทำได้ เพื่อให้พรรคอันดับหนึ่งตัดสินใจทางการเมืองง่ายขึ้น ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังกับเกมการเมือง โดยพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องไปร่วมรัฐบาลกับเขาเพราะ

ประการแรก เขาไม่ได้เชิญ และแม้ว่าเขาจะเชิญก็ไม่ควรไป เพราะประการที่สอง จำนวนสมาชิกที่เราได้รับความไว้วางใจได้รับเลือกตั้งเข้ามาถือว่าต่ำมาก ซึ่งสะท้อนว่าบุคลากร แนวทาง และนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้รับการยอมรับในระดับที่จะบอกใครได้ว่าเราได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปบริหารประเทศได้

แต่การแสดงท่าทีดังกล่าว แม้จะไม่ได้ส่งผลให้เสียงสนับสนุนถึง 375 แต่จะสะท้อนวุฒิภาวะทางการเมืองของพรรคฯ และการยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง

พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นแกนหลักของสังคมมาเป็นเวลานาน จะหลักในแง่การเป็นผู้นำบริหารประเทศ หรือหลักในการเป็นฝ่ายตรวจสอบ เป็นผู้นำทางความคิดให้แก่สังคมก็ตาม ในเวลาที่ชนะเลือกตั้ง พรรคฯ จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืนอยู่บนหลักเหตุผล เอาประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ชูหัวหน้าพรรคฯ เป็นนายกฯ

บางครั้งชนะเลือกตั้งแล้ว เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ด้วยสถานการณ์และอุณหภูมิการเมือง พรรคฯตัดสินใจ ไม่รับเป็นผู้นำรัฐบาล ปฏิเสธตำแหน่งนายกฯ ก็เคยมี

ในเวลาที่แพ้เลือกตั้ง ประชาชนไม่เห็นเราเป็นทางเลือกหลักในการบริหารประเทศ เราก็ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร คอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านเข้าสู่สภา รวมทั้งใช้กลไกสภาแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอย่างเข้มแข็ง นั่นคือนิสัยดั้งเดิมของพรรคประชาธิปัตย์

ยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง ส่วนใครจะรวมกับใครอย่างไร เล่นเกมชิงจังหวะกันอย่างไรก็ให้เขาว่ากันไป หยิบยกนิสัยดั้งเดิมกลับมาใช้ ในขณะเดียวกันก็ถือโอกาสทบทวนปรับปรุงตัวเองน่าจะเป็นเรื่องที่ดี

Back to top button