FVC พุ่งต่อ 16% หลังปิดดีล 50 ล้าน ทยอยรับรู้รายได้ทันที
FVC วิ่งแรง 16% หลังปิดดีลกลุ่มลูกค้า 12 งาน มูลค่า 50 ล้านบาท คาดเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (25 พ.ค.66) ราคาหุ้น บริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FVC ณ เวลา 10:40 น. อยู่ที่ระดับ 1.09 บาท บวก 0.15 บาท หรือ 15.96% สูงสุดที่ระดับ 1.18 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 0.96 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 25.01 ล้านบาท
โดยราคาหุ้น FVC ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงหลังวานนี้ นายวิจิตร เตชะเกษม กรรมการผู้จัดการ FVC เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการด้านระบบน้ำ ได้รับคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้า 12 งานมูลค่ารวม 49.67 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถติดตั้งระบบดังกล่าวแล้วเสร็จในไตรมาส 2-ไตรมาส 4/66 และคาดว่าจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่เดือน พ.ค.66 เป็นต้นไป
สำหรับในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการด้านระบบน้ำ บริษัทฯ ยังคงวางกลยุทธ์การตลาด เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในเทคโนโลยีบำบัดและการฆ่าเชื้อในน้ำมาช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้า ภายใต้การขยายงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเสนอผลิตภัณฑ์และโครงการสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำขนาดใหญ่
ส่วนทิศทางการตลาดของส่วนธุรกิจดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยตั้งแต่ปลายไตรมาส 4/65 บริษัทสามารถเข้าดำเนินงานโครงการระบบน้ำขนาดใหญ่แล้วเสร็จต่อเนื่องตามที่วางไว้ ส่งผลให้บริษัทฯ จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาตามแผนกำหนด และคาดว่าหลังจากนี้บริษัทฯจะมีงานใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของกลุ่มลูกค้าครัวเรือน รวมถึงลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่กลับมาลงทุนในระบบบำบัดน้ำ
ขณะที่กลุ่มธุรกิจพาณิชย์และที่พักอาศัย (B2) จากสถานการณ์ฟื้นตัวเศรษฐกิจ แบบค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ภาคธุรกิจเริ่มส่งสัญญาณบวก ทำให้ลูกค้าของบริษัทฯ ในกลุ่มร้านอาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยสะท้อนจากการกลับมาเปิดดำเนินกิจการในสภาวะปกติ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้คำสั่งซื้ออะไหล่ ไส้กรอง อุปกรณ์กรองน้ำ รวมถึงงานบริการดูแลบำรุงรักษา เริ่มกลับมาทยอยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดรับกับการที่ลูกค้าเตรียมแผนงานติดตั้งระบบน้ำใหม่
ประกอบกับจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาด ส่งผลให้ลูกค้ามีความใส่ใจในเรื่องสุขภาพ ความสะอาดของอาหารและเครื่องดื่มเกี่ยวกับการจัดการเรื่องเชื้อปนเปื้อนในอาหาร ทำให้บริษัทฯ มีโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโอโซน เช่น เครื่องผลิตน้ำดื่มไฮโดรเจนและน้ำโอโซนให้กับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำได้เพิ่มขึ้น
ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการทางการแพทย์ (B3) หรือกลุ่ม บริษัท เคที เมดิคอล เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ KTMS นั้น ปัจจุบันทาง KTMS มีการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายสาขาและเพิ่มเครื่องไตเทียม ซึ่งมีการตั้งเป้าปี 66 จะขยายสาขาประมาณ 4-9 แห่ง และเครื่องไตเทียมประมาณ 70-82 เครื่อง
ขณะที่บริษัท เนโฟรวิชั่น จำกัด (ภายใต้บริษัทย่อย KTMS) ปัจจุบันมีแผนสำหรับการเปิดสาขา และซื้อเครื่องไตเทียม ในปี 66 โดยจะเปิดสาขา 1-2 แห่ง และซื้อเครื่องไตเทียมประมาณ 16-24 เครื่อง เช่นเดียวกันบริษัท เออร์วิง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ปัจจุบันได้รับสั่งซื้องานติดตั้งระบบน้ำจากลูกค้าแล้ว 8 โครงการ มูลค่ารวม 6 ล้านบาท คาดว่าจะติดตั้งให้แล้วเสร็จในไตรมาส 2-ไตรมาส 4/66 และในส่วนของ บริษัท เมดิคอล วิชั่น จำกัด ได้รับคำสั่งซื้องานติดตั้งท่อลมรับ-ส่ง สิ่งส่งตรวจทางการแพทย์จากลูกค้าแล้ว 9 โครงการ มูลค่ารวม 16.05 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งและคาดว่าแล้วเสร็จในไตรมาส 2-ไตรมาส 4/66
อย่างไรก็ตาม จากแผนการดำเนินงานของการให้บริการทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ จะหนุนการอัตราการเติบโตรายได้ของ FVC ในปี 66 แตะระดับพันล้านบาท ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กลุ่มบริษัทมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต