“จุรินทร์” เผยข่าวดี ไทยเงินเฟ้อ พ.ค.66 ต่ำสุดในอาเซียน
“จุรินทร์” แย้มเงินเฟ้อเดือน พ.ค.2566 คาดบวกแค่ 0.5% ต่ำสุดในอาเซียน และเป็นประเทศที่เงินเฟ้อต่ำอยู่ลำดับที่ 14-15 จาก 130 ประเทศทั่วโลก เหตุได้รับผลดีจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดลดลง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลง สถานการณ์ราคาสินค้า พร้อมด้วยนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สถานการณ์เงินเฟ้อและราคาสินค้า และราคาพืชผลการเกษตร สะท้อนให้เห็นว่าในช่วงปี 66 จนถึงปัจจุบันมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับ เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อลดลง คาดว่าเดือน พ.ค. เงินเฟ้อจะเป็นบวกแค่ 0.5% เป็นทิศทางที่ดี เงินเฟ้อไทยจะต่ำที่สุดในอาเซียนไม่เกินลำดับที่ 14-15 จาก 130 กว่าประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้เป็นการสะท้อนผ่านราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ปรับลดลงโดยเฉพาะหมวดอาหาร มีผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภคมาก เช่น ราคาหมูเนื้อแดง แนวโน้มราคาปรับลดลง ขณะนี้ราคาต่ำกว่าราคาโครงสร้างประมาณ 40 บาท/กก. หรือ 20% ขณะนี้เฉลี่ยราคา 145 บาท/กก. ไก่ ราคาต่ำกว่าราคาโครงสร้าง 6-17% ไข่ไก่ เบอร์ 3 แม้จะปรับขึ้นในช่วงนี้เพราะฤดูร้อนไก่จะออกไข่น้อยและลูกเล็ก แต่ราคาเฉลี่ยยังต่ำกว่าราคาโครงสร้างถึง 16% และราคาผัก ในภาพรวมสัปดาห์นี้ราคาปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน เพราะฝนเริ่มมา ผักออกมากขึ้น และกรมการค้าภายในช่วยระบายผักออกสู่ตลาด ราคาผักมีแนวโน้มปรับลดลง
ส่วนราคาพืชผลการเกษตร ช่วงระยะเวลานี้ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก เช่น ข้าวทั้ง 4 ชนิด ราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกันเกือบทุกตัว ราคามันสำปะหลัง เฉลี่ย 3.35-3.80 บาท/กก. เป็นยุคทองยุคหนึ่งของมันสำปะหลังไทย ปาล์มน้ำมัน เฉลี่ย 5-5.50 บาท/กก. สูงกว่ารายได้ที่ประกันที่ 4 บาท/กก. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 12 บาท/กก. ส่วนผลไม้ ปีนี้เป็นปีทองราคาสูงมากโดยเฉพาะภาคตะวันออกที่ปิดฤดูเมื่อไม่กี่วัน ราคาทุเรียนเกรดส่งออก ปีที่แล้วเฉลี่ย 150 บาท/กก. ปีนี้สูงถึง 187.50 บาท/กก. ทุเรียนตกเกรด ปีที่แล้ว 92 บาท/กก. ปีนี้สูงถึง 120-165 บาท/กก. ซึ่งปีนี้ราคาผลไม้ดีที่สุดยุคหนึ่งของประเทศ มังคุด ภาคตะวันออก ปีที่แล้วเฉลี่ย 140 บาท /กก. ปีนี้เกรดส่งออก เฉลี่ย 170-185 บาท/กก. และราคาปุ๋ย เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ราคาปรับลดลง เช่น ยูเรีย ลดลง 50% ปุ๋ยอื่นๆโดยเฉลี่ย ลดลงประมาณ 30%
“ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลงขณะที่ราคาพืชผลการเกษตรปรับสูงขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ารายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น รายจ่ายของพี่น้องปรับลดลง ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในสถานการณ์ที่ดีต่ำสุดในอาเซียน” นายจุรินทร์ กล่าว