SCB EIC เผย EASA ไม่แบนไทยส่งสัญญาณดีต่ออุตฯการบิน-ท่องเที่ยวปี 59
SCB EIC เผย EASA ไม่แบนไทยส่งสัญญาณดีต่ออุตฯการบิน-ท่องเที่ยวปี 59
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB EIC) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากการที่สำนักงานความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ประกาศผลการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทยแล้ว โดยไม่มีสายการบินใดของไทยถูกเพิ่มเข้าไปใน EU Air Safety List หรือไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ ส่งผลให้สายการบินสัญชาติไทยยังคงสามารถบินเข้า-ออกยุโรปได้ตามปกติ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการของ EASA จะยังคงติดตามและตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในกรณีที่ EASA ขึ้นบัญชีดำสายการบินสัญชาติไทย อีไอซีมองว่าอาจกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงสั้นๆ ราว 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินแบบประจำเส้นทาง (scheduled flight) รายเดียวของไทยที่มีเที่ยวบินไปยุโรปอาจไม่สามารถโอนย้ายผู้โดยสารไปยังสายการบินอื่นได้ทัน รวมถึงผู้โดยสารอาจไม่สามารถเปลี่ยนแผนการเดินทางเข้าไทยได้
ดังนั้น การที่ EASA ยังคงให้สายการบินสัญชาติไทยทำการบินเข้า-ออกยุโรปได้จึงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจากยุโรปยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธุรกิจท่องเที่ยวยังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปมีการเดินทางมากขึ้น โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวยุโรปคิดเป็น 15% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และการบินไทยมีส่วนแบ่งการตลาด 1 ใน 3 ของเที่ยวบินเส้นทางยุโรปทั้งหมด หรือจำนวน 1.6 ล้านที่นั่งจาก 5.6 ล้านที่นั่งต่อปี
นอกจากนี้ การประเมินผลในเชิงบวกของ EASA จะช่วยเรียกความมั่นใจให้แก่อุตสาหกรรมการบินของไทย และส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินในปี 2016 มีแนวโน้มเติบโตได้ดี แม้ว่าไทยจะถูกลดระดับจาก ICAO และ FAA แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมการบินยังอยู่ในวงจำกัดและไม่รุนแรงมากนัก กล่าวคือ สายการบินสัญชาติไทยไม่สามารถเพิ่มความถี่ของสายการบินเดิมหรือเพิ่มเที่ยวบินสู่จุดหมายปลายทางใหม่ในบางประเทศเท่านั้น ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาผลกระทบดังกล่าวประกอบกับการประเมินของ EASA ที่เป็นไปในทิศทางบวก จึงเป็นสัญญาณที่ดีต่ออุตสาหกรรมการบินของไทย
โดยอีไอซีประเมินว่ารายได้ของสายการบินเต็มรูปแบบและสายการบินต้นทุนต่ำยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปี 2016 ในระดับ 4-6%YOY และ 20-25%YOY ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงต้องเร่งแก้ไขปัญหาด้านการบินอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (new engine of growth) โดยมีอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจึงมีความจำเป็นต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้านการบินอย่างเร่งด่วน ทั้งในประเด็นการออกใบอนุญาตเดินอากาศ และการเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบ (inspector) เพื่อให้ ICAO และ FAA คืนสถานะความปลอดภัยด้านการบินแก่ไทยในระยะเวลาอันสั้นที่สุด
ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม ยังคงต้องจับตาผลการประเมินของ EASA ครั้งต่อไป ซึ่งจะมีการประเมินในทุกๆ ครึ่งปี ผู้ประกอบการโรงแรมควรเตรียมความพร้อมเพื่อหาลูกค้าใหม่ทดแทนในกรณีที่นักท่องเที่ยวชาวยุโรปจะยกเลิกการจองห้องพัก อาทิ การมุ่งเน้นรองรับลูกค้าชาวเอเชียให้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประเมินผลครั้งต่อไปของ EASA โดยเฉพาะโรงแรมในเขตกรุงเทพฯ สมุย ภูเก็ต และพัทยา ซึ่งยังคงพึ่งพาลูกค้าจากตลาดยุโรปเป็นส่วนใหญ่