ครั้งแรก! ผู้ว่าฯกทม. หารือ BTS สางปัญหาหนี้ “4 หมื่นล้าน” รถไฟฟ้า “สายสีเขียว”
“ชัชชาติ” เผยภายหลังการหารือครั้งแรกกับ “BTS” ยันพร้อมเร่งสะสางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว-หนี้ 4 หมื่นล้าน เตรียมนำเข้าสภากทม. ในการพิจารณาสมัยประชุมหน้า
วันที่ 12 มิ.ย. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และคณะผู้บริหาร เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกันเรื่องการชำระค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ
นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวทาง กทม.ทำหนังสือมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งค่า E&M กทม.ต้องชำระให้กับทางบีทีเอส อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภา กทม. และต้องนำเงินสะสมจ่ายขาดมาชำระ ซึ่งสภา กทม.ต้องเป็นผู้พิจารณาเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมาสภา กทม.มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว โดยการเปิดประชุมสภา กทม.สมัยหน้า จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร
นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.ดำเนินการอีกทางหนึ่งคือ การทำหนังสือส่งความเห็นไปยังกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.65 คือ 1.ขอรัฐบาลสนับสนุนค่าโครงสร้างพื้นฐาน และค่า E&M 2.เรื่องที่ค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งตัวมูลหนี้ของ E&M อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ มูลหนี้สะสมกว่า 4 หมื่นล้านจะถูกหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน ซึ่งตอนนี้เรื่องยังค้างอยู่ คงต้องสอบถามและเร่งรัดทาง ครม.ด้วยว่าจะพิจารณาอย่างไร
นายชัชชาติ กล่าวว่า เห็นใจทางเอกชนเพราะมีภาระหนี้ที่เยอะ บีทีเอสก็เป็นตัวสำคัญที่ช่วยบรรเทาเรื่องการเดินทาง แต่ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติซึ่งทั้งฝ่ายบริหารกับทางสภา กทม. ก็เข้ามาหลังจากที่มีการดำเนินการไปแล้วนั้น ต้องมีกระบวนการอนุมัติการใช้เงินที่ถูกต้อง
นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการอธิบายให้ทางบีทีเอสเข้าใจกระบวนการการเบิกจ่ายเงินของ กทม. เพราะฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจนำเงินมาจ่ายหนี้ให้บีทีเอส เพราะต้องผ่านการพิจารณาของสภา กทม. เช่น การอนุมัติก่อหนี้ผูกพัน การอนุมัตินำเงินสะสมจ่ายขาด ซึ่งสภา กทม.ก็มีภารกิจหลายเรื่องที่ต้องทำ การมีคณะกรรมการวิสามัญฯ จะช่วยให้มีความเข้าใจมากขึ้น
ทางด้าน นายคีรี กล่าวว่า ขอบคุณนายชัชชาติที่เปิดให้พูดคุยกันครั้งแรก และเข้าใจเอกชนที่แบกรับภาระมานานกว่า 4 ปี ตอนนี้มีความเข้าใจในการแบ่งหนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่า E&M และค่าจ้างการเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) ซึ่งค่า E&M มีการติดตั้งใช้งาน และ กทม.เซ็นรับงานเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องให้ที่ประชุมสภา กทม.เป็นผู้พิจารณา ในต้นเดือน ก.ค.2565 กว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนค่า O&M กว่า 3 หมื่นล้านบาท หวังให้รัฐบาลรักษาการพิจารณา หรือถ้าไม่ได้ก็ให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณาแทน
นายคีรี ยังระบุด้วยว่า จากการพูดคุยวันนี้ไม่ได้ติดใจอะไร แต่มาขอให้ กทม.เห็นใจ หนี้สินที่เรามีเกิน 50,000 ล้าน แบ่งเป็น ค่า E&M 20,000 ล้านบาท และค่า O&M เชื่อว่าเราได้เข้าใจกันแล้ว ซึ่งนายชัชชาติกรุณา จะเอาเข้าสภา กทม.เพื่อเห็นชอบและอนุมัติ โดยได้รับการยืนยันว่าจะพยายามทำให้เร็วที่สุด