STARK ฟลอร์! หลังเปิดงบ 2 ปีขาดทุน 1.26 หมื่นล้าน เจอปลอมบัญชีไซฟ่อนเพียบ
STARK ร่วงฟลอร์ หลังเปิดงบ 2 ปี ขาดทุน 1.26 หมื่นล้าน ผู้ตรวจสอบบัญชีเจอปลอมบัญชีไซฟ่อนเพียบ พบทำธุรกรรมอำพรางหลายรายการผ่าน “เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง” ทั้งวนเงินออกผ่าน “เจ้าหนี้การค้า” และวงเงินกลับเข้ามาผ่าน “ลูกหนี้การค้า” ล่าสุด ตลท.จ่อถูกเพิกถอน เตรียมขึ้น SP ยาวตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 มิ.ย.66) ราคาหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ณ เวลา 10:39 น. อยู่ที่ระดับ 0.06 บาท ลบ 0.02 บาท หรือ 25.00% สูงสุดที่ระดับ 0.06 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 0.05 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2.75 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นที่ทรุดลงต่อเนื่อง จากกรณีประเด็น STARK หลังจากรายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีผลขาดทุนสุทธิ 6,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 662 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 11% เทียบกับขาดทุนสุทธิปี 2564 จำนวน 5,989 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการขาดทุนจากการดำเนินงาน การตั้งสำรองการด้อยค่าของทรัพย์สินและเงินลงทุน ผลขาดทุนด้านเครดิตทั้งจากลูกค้าและเงินให้กู้ยืมระหว่างกัน รวมถึงการขาดทุนจากสินค้าสูญหาย
โดยส่งผลให้ทางผู้ตรวจสอบบัญชีได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับในหมายเหตุประกอบงบการเงินในหัวข้อ “รายการปรับปรุงที่สำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างปีและการปรับปรุงรายการย้อนหลังไปยังงบการเงินปีก่อน” ในข้อ 1.4 และ 1.5
ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าว มีการพบข้อพิรุธหลายอย่าง อาทิ STARK มีการตั้งเรื่องจัดซื้อทองแดงและอลูมิเนียมจากซัพพลายเออร์ 3 ราย แต่ไม่มีการเปิด Letter of Credit หรือ L/C ไปยังซัพพลายเออร์ทั้ง 3 ราย มูลค่า 10,451 ล้านบาท ด้วยการทำคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อบันทึกเป็นรายจ่ายให้กับบริษัท โดยผู้ตรวจสอบบัญชี พบว่าเงินสดไม่ได้ออกไปที่คู่ค้าบริษัท แต่กลับมีการจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับ “เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง” หรือ APDE แทน ทั้งที่ APDE ไม่เคยเป็นบริษัทคู่ค้ากับทาง “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK มาก่อน จึงเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่ามีธุรกรรมการซื้อขายสินค้าจริงหรือไม่ รวมถึงการจ่ายเงินซื้อสินค้าล่วงหน้าไม่ใช่ธุรกรรมการซื้อขายที่ปกติของทาง STARK
อีกทั้งในภายหลังยังพบว่า “เฟ้ล์ปส์ ดอด์จ” ได้รับชำระเงินจากลูกหนี้การค้า ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่าเป็นเงินจาก APDE ซึ่งการที่ APDE ไม่เคยทำธุรกิจกับ STARK มาก่อน และอยู่ดีๆ มีชื่อขึ้นมาเป็นผู้รับเงินล่วงหน้า และมีการจ่ายกลับมาที่บริษัท อาจเป็นความจงใจให้มีชื่อของ “วนรัชต์” เข้ามามีส่วนพัวพันในเรื่องของการทุจริตด้วยหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า APDE เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ “วนรัชต์”
นอกจากนี้ ยังพบชื่อ นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน หรือ CFO ของ STARK ที่สิ้นสุดการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ว่าเคยเป็นกรรมการรายหนึ่งของ ADPE ในช่วงระหว่างมีธุรกรรมต้องสงสัยเกิดขึ้น
อีกทั้งในภายหลังยังพบว่า “เฟ้ล์ปส์ ดอด์จ” ได้รับชำระเงินจากลูกหนี้การค้า ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่าเป็นเงินจาก APDE ซึ่งการที่ APDE ไม่เคยทำธุรกิจกับ STARK มาก่อน และอยู่ดีๆ มีชื่อขึ้นมาเป็นผู้รับเงินล่วงหน้า และมีการจ่ายกลับมาที่บริษัท อาจเป็นความจงใจให้มีชื่อของ “วนรัชต์” เข้ามามีส่วนพัวพันในเรื่องของการทุจริตด้วยหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า APDE เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ “วนรัชต์”
อนึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลของกรมทะเบียนการค้า พบว่าบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ประกอบธุรกิจนำเข้า ตัวแทนจำหน่าย ให้เช่า อุปกรณ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม มีผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ 1)บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 60% 2)นายกิจจา คล้ายวิมุติ ถือหุ้นสัดส่วน 37.5% 3)นายประเสริฐ คล้ายวิมุติ ถือหุ้นสัดส่วน 2.5%
ขณะที่ บริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง จำกัด มีผู้ถือหุ้น 100% คือ นายวนรัชต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ STARK อย่างไรก็ดีจากข้อมูลดังกล่าว ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่า นายวนรัชต์ มีความผิดเกี่ยวกับธุรกรรมการโอนเงินอันผิดปกติตามที่ผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ด้วยโครงสร้างของธุรกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้สอบบัญชีตรวจสอบพบนั้น ส่งผลให้เหตุการณ์ในขณะนี้ดูเหมือนว่า นายวนรัชต์ อาจเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการทุจริตใน STARK ทั้งนี้ยังต้องรอการพิสูจน์อย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ควบคุมสั่งการตัวจริงในส่วนของการปลอมแปลงเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ตลอดจนการทำธุรกรรมของทั้ง STARK, เฟ้ลปส์ ดอด์จ และ APDE
ล่าสุด ตลาดหลักทรัพย์ฯ แจ้งดำเนินการกับ STARK กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์และขอให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ STARK โดยมีสาเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากการที่ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป พร้อมทั้งขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-compliance)
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK จากกรณีที่หลักทรัพย์ STARK เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากเหตุส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์นั้น เนื่องจากหลักทรัพย์ STARK ได้รับอนุญาตให้สามารถซื้อขายได้เป็นการชั่วคราวในระหว่างวันที่ 1 – 30 มิถุนายน 2566
ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) เพื่อสั่งห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์ STARK อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ไปจนกว่าบริษัทจะสามารถดำเนินการแก้ไขเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน จากเหตุส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ และดำเนินการให้บริษัทมีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขายได้ตามปกติ
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงินและผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ของบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ด้วยความระมัดระวัง เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน