BLC ดีดแรง 7% ลุ้นกำไรปีนี้ 171 ล้าน เป้าสูง 18 บาท ดันอัพไซด์ทะลัก 134%
BLC เด้งเฉียด 7% ฟาก “ซีอีโอ” ย้ำแผน 5 ปี สร้างยอดขายและกำไรโตไม่หยุด ปั๊มรายได้เพิ่มขึ้นแตะ 2 พันล้านบาทภายในปี 69 โบรกฯประเมินพื้นฐานดีปี 66-67 กำไรโต 171-233 ล้านบาท เคาะเป้าสูง 18 บาท หนุนอัพไซด์พุ่ง 134%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 มิ.ย.66) ราคาหุ้น บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) หรือ BLC ณ เวลา 10:55 น. อยู่ที่ระดับ 7.70 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 6.94% สูงสุดที่ระดับ 7.80 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 7.20 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 276.82 ล้านบาท
โดยวานนี้ BLC ได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรก ในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภค หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ โดยเปิดตลาดเท่าราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 10.50 บาท และปิดตลาดที่ราคา 7.20 บาท ลดลง 3.30 บาท หรือคิดเป็นลดลง 31.43% มูลค่าการซื้อขาย 2,028.89 ล้านบาท
ขณะที่ ภก.สุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BLC เปิดเผยว่า การนำหุ้น BLC เข้าจดทะเบียนและซื้อขายใน SET นับเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดัน BLC ให้เติบโตอย่างมั่นคงไปอีกขั้น จากความแข็งแกร่งด้านเงินทุนที่สามารถรองรับศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยมูลค่าอุตสาหกรรมตลาดยามีกว่า 200,000 ล้านบาท เติบโต 7% ขณะที่ BLC สามารถเติบโตดีกว่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10%
ส่วนทิศทางผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2566 และภาพรวมทั้งปี 2566 ยังดำเนินการเป็นไปตามแผนงาน และเป็นไปตามกลยุทธ์ที่ระบุไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้ดี ทั้งยอดขายและกำไรออกมาสอดคล้องกับตัวเลขในบทวิเคราะห์จากสถาบันต่าง ๆ ได้ประเมินไว้อย่างแน่นอน รวมทั้งมั่นใจ BLC มีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จากเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพที่กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญทั่วโลก
ขณะที่ ในช่วงระยะ 5 ปี (ปี 2566-2570) BLC ตั้งเป้าหมายจะมีรายได้เติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท และภายในปี 2569 จะมีรายได้รวม 2,000 ล้านบาท โดยมีนโยบายควบคุมต้นทุนให้น้อยลง และเพิ่มความสามารถในการสร้างกำไรที่มากขึ้น หรือเติบโตไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10-12% ต่อปี ปัจจุบัน BLC เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างครบวงจร ดำเนินธุรกิจในการผลิตและจัดจำหน่ายกลุ่มยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ
“BLC เป็นบริษัทยาของคนไทย ดำเนินธุรกิจครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ที่มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 33 ปี ผ่านการจำหน่ายทุกช่องทาง ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งก่อตั้งด้วยความตั้งใจอยากให้คนไทยเข้าถึงยาคุณภาพดี สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาของประเทศไทย ด้วยการสร้างนวัตกรรมด้านสมุนไพร เพื่อสร้างการยอมรับในระดับโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต” ภก.สุวิทย์ กล่าว
สำหรับเงินระดมทุนจากการขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ จะนำไปใช้ลงทุน
1.โครงการในอนาคต
2.จ่ายคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และ
3.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยโครงการในอนาคต BLC มีแผนการลงทุน ได้แก่
1)โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาอาคารใหม่ เนื้อที่ 11,703 ตารางเมตร (ตร.ม.) ใช้งบลงทุน 845 ล้านบาท บนที่ดินเดิมของโรงงานที่จังหวัดราชบุรี เมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2569 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบ 200%
2)โครงการวิจัย พัฒนา และผลิตยาสามัญใหม่ (New Generic Drugs) 14 รายการ ในกลุ่มยาโรคเรื้อรัง และไม่เรื้อรัง ซึ่งอยู่ในกลุ่มยาที่มีอัตราการเติบโตสูง รองรับการก้าวสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยจะเริ่มวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี 2566 งบลงทุนไม่เกิน 140 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเงินลงทุนรายการละ 10 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาวิจัย 3 ปี จึงเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม BLC มีเป้าหมายวางจำหน่ายไม่น้อยกว่า 2 รายการต่อปี ทำให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) โดยมุ่งเน้นการเพิ่มยอดขายจากทุกช่องทาง เพื่อรักษาอัตราเติบโตของรายได้และอัตรากำไร
นางสาวสุวิมล ศรีโสภาจิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญ BLC เปิดเผยว่า ราคาหุ้น BLC ที่เข้าซื้อขายวานนี้ ปิดตลาดต่ำกว่าราคาจองซื้อไอพีโอ 10.50 บาท มองว่าเป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นที่ไม่ค่อยดีในช่วง 2 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่ติดลบหลายตลาด อย่างไรก็ตามอยากให้นักลงทุนเชื่อมั่นในหุ้น BLC ซึ่งเป็นหุ้นยาของประเทศไทยที่มีความแข็งแกร่ง เชื่อว่าสักระยะหนึ่งราคาน่าจะฟื้นตัวกลับมาในระดับที่ดี เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานและพื้นฐานธุรกิจที่ดี
ส่วนราคาหุ้นไอพีโอที่ 10.50 บาท มองว่าราคาเหมาะสมแล้ว เมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์สถาบันต่าง ๆ ในกลุ่มผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น (underwriter) ที่ร่วมกันวิเคราะห์ไว้ BLC โดยมีส่วนลดจากราคาเป้าหมาย (DISCOUNT) มากถึง 30-40%
ทั้งนี้ BLC เป็นบริษัทที่อยู่ในช่วงเติบโต และจะเป็นหุ้น Growth Stock ด้วยจุดเด่นการเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน ซึ่งมีความจำเป็นในการรักษาโรคครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ และมีผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพครบวงจร สามารถรองรับการเติบโตของเทรนด์ด้านสุขภาพในอนาคตจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อีกทั้งมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม และผลิตภัณฑ์ได้รับความไว้วางใจจากทุกกลุ่มลูกค้า ซึ่งการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นจะเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และรองรับการจ้างผลิต (OEM) รวมทั้งรองรับความร่วมมือจากพันธมิตรในอนาคต มั่นใจว่า BLC เป็นหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตสูง และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้นักลงทุน อีกทั้ง BLC ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมทั้งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
ด้านบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ประเมินราคาเป้าหมายปี 2567 ของหุ้น BLC ไว้ที่ 16.30 บาท เทียบเท่า Implied P/E ที่ 42.8 เท่า ใกล้เคียง Target PER ของหุ้นโรงพยาบาลใหญ่อย่าง BH และ BDMS ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก หากคิดกลับมาปี 2566 ได้ราคาเป้าหมาย 13.60 บาท มีอัพไซด์ 29.5% จากราคาไอพีโอ 10.50 บาท โดยคาดการณ์กำไรในปี 2566 และปี 2567 จะเติบโตต่อเนื่องได้ราว 36% และ 34% ตามลำดับ ซึ่งจะมาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นและยาสามัญใหม่ โดยในระหว่างรออาคารผลิตใหม่ที่จะสร้างภายในต้นปี 2569 บริษัทมีแพลนเพิ่มกำลังการผลิตอาคารเดิมจาก 1 กะ เป็น 2 กะ ในปี 2566 รองรับดีมานด์ที่สูง รวมถึงการเพิ่มการผลิตยาสามัญใหม่ปีละ 2 รายการตามแผนเพื่อช่วยเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้น
ดังนั้น ประเมินยอดขายปี 2566 จะเติบโต 16% อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 171 ล้านบาท จากปีก่อนที่มียอดขาย 1,296 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 126 ล้านบาท นอกจากนี้ภาระดอกเบี้ยจ่ายจะลดลงจากนำเงินไอพีโอบางส่วนมาชำระคืนเงินกู้ ซึ่ง ณ สิ้นปี 2565 มีเพียง 480 ล้านบาท และโครงการก่อตั้งอาคารผลิตแห่งใหม่พร้อมโซลาร์รูฟท็อป บวกกับแผนผลิตยาสามัญใหม่อีก 14 รายการ จะช่วยการเติบโตในระยะยาว และช่วยให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ ด้านปัจจัยเสี่ยงของ BLC คือ แผนการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่ และการผลิตยาสามัญใหม่ หากมีการสะดุดหรือล่าช้า จะกระทบต่อประสิทธิภาพการสร้างกำไร อีกทั้งยังมีหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ติด Silent Period 20% ซึ่งฝากไว้ที่ KGI 2-4 สัปดาห์นับจากวันเทรดวันแรก อาจมีแรงขายทำกำไรหลังจากนั้น
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ประเมินมูลค่าเหมาะสมปี 2566 สำหรับ BLC ไว้เท่ากับ 18 บาท อ้างอิง P/E ที่ระดับ 61 เท่า ซึ่งเป็นระดับ premium ราว 10% เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายกันในประเทศ แต่ discount ราว 10% เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการต่างประเทศ (Figure 9) ซึ่งบริษัทมีจุดเด่นจากการที่เป็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับยาในระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมีโอกาสในการเติบโต รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงในอนาคต ส่วนอัตรากำไรขั้นต้น (gross margin) สูงกว่า 50% อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอัตรากำไรสุทธิ (net margin) สูงกว่า 10% ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
โดยคาดกำไรสุทธิปี 2566 ของ BLC จะอยู่ที่ 177 ล้านบาท เติบโต 40.5% จากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 126 ล้านบาท และปี 2567 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 233 ล้านบาท เติบโต 26.1% จากปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามยอดขายในปี 2566 จะเติบโต 15.4% แตะ 1,496 ล้านบาท จากปี 2565 ที่มียอดขาย 1,296 ล้านบาท และปี 2567 จะเติบโต 13.5% แตะ 1,698 ล้านบาท รวมทั้งอัตรากำไรขั้นต้นที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากการผลิตยาใหม่ ๆ ที่มีความต้องการของตลาดสูง
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ BLC ในปี 2566 ที่ 12 บาท โดยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2566 จะเติบโต 37% แตะ 172 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 126 ล้านบาท ปี 2567 คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโต 22% แตะ 209 ล้านบาท และปี 2568 คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโต 22% แตะ 254 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 26% เป็นไปตามแรงหนุนภาพรวมของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 และพฤติกรรมที่คนหันมารักษาสุขภาพ รวมถึงการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น กลุ่มสินค้า Probiotics และกลุ่มยาสามัญใหม่ นอกจากนี้ gross margin ปรับตัวดีขึ้นจากกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าที่มี margin สูง และปรับลดการจำหน่ายสินค้าที่มี margin ต่ำ
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด ระบุว่า ประเมินมูลค่าเหมาะสมของ BLC ไว้ที่ 13.79 บาท เพื่อให้สะท้อนประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนใหม่ หลังได้รับเงินไอพีโอ ซึ่งจะเทียบเท่า PER 42.2 เท่า ของประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 2566 เนื่องด้วยอยู่ในช่วงเริ่มต้นวัฏจักรขาขึ้นของผลการดำเนินงาน และเงินที่ได้จากไอพีโอจะนำไปลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และขยายกำลังการผลิตเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
โดยแผนธุรกิจ 5 ปี (2566-2570) บริษัทตั้งเป้าที่จะมีอัตรากำไรสุทธิขึ้นไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมที่ 20% ด้วยการผลักดันยอดขายกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาที่มีอัตราการเติบโตสูง รวมถึงเพิ่มอัตรากำไร ด้วยการพัฒนายาสามัญใหม่ เพื่อวางจำหน่ายเข้าสู่ตลาดเป็นรายแรก ๆ หลังสิทธิบัตรยาต้นแบบหมดอายุ หากทำได้ตามเป้า ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเชิงบวกต่อประมาณการที่คาดการณ์ว่าอัตรากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 15.9% ในปี 2570
นอกจากนี้ประเมินยอดขายปี 2566 จะอยู่ที่ 1,512 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 177 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มียอดขาย 1,296 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 126 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2567 จะมียอดขาย 1,705 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 230 ล้านบาท ส่วนปี 2568 จะมียอดขาย 1,892 ล้านบาท และจะมีกำไรสุทธิ 284 ล้านบาท