OTO ร่วงต่อ 15% แพนิก “บันฑิต สะเพียรชัย” ทิ้งเก้าอี้ซีอีโอกลางคัน
OTO ร่วง 15% แพนิกหลัง"บันฑิต สะเพียรชัย" ทิ้งเก้าอี้ซีอีโอกลางคัน หลังแต่งตั้งได้ไม่ถึงเดือนและไม่ทันนั่งเก้าอี้ ล่าสุดดัน "คณาวุฒิ วรรทนธีรัช" นั่งรักษาการ CEO มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 มิ.ย.66) ราคาหุ้นบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO ณ เวลา 10:28 น. อยู่ที่ระดับ 1.54 บาท ลบ 0.27 บาท หรือ 14.92% สูงสุดที่ระดับ 1.63 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.47 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 78.02 ล้านบาท
ด้านนายคณาวุฒิ วรรทนธีรัช ประธานกรรมการบริหาร OTO แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2566 มีมติที่ประชุมรับทราบการลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทของนายบัณฑิต สะเพียรชัย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป และมีมติอนุมัติแต่งตั้งรองศาสตราจารย์ดร.อภิวัฒน์ มุตตามระ เป็นกรรมการแทนกรรมการที่ลาออกโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป
โดยภายหลังการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท จะประกอบด้วยกรรมการ 10 คน คือ 1)ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ประธานกรรมการ กรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ 2)ดร.ชูเกษ อุ่นจิตติ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ 3)นายภัทรกฤซ เตชะศิกานต์ กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ 4)นายไพรยง ธีระเสถียร กรรมการอิสระ
5)นายคณาวุฒิ วรรทนธีรัช กรรมการ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 6)นายชัยวัฒน์ พิทักษ์รักธรรม กรรมการ 7)นายสมคิด ลิขิตปริญญา กรรมการ 8)นายศรายุทธ์ ยิ้มเรือน กรรมการ 9)นางณารีรัตน์ เงินนำโชคธนรัตน์ กรรมการ และ 10)รองศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ มุตตามระ กรรมการ
พร้อมกันนี้ บอร์ดมีมติอนุมัติแต่งตั้งนายคณาวุฒิ วรรทนธีรัช เข้าดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ OTO เพิ่งจะมีมติอนุมัติแต่งตั้งนายบัณฑิต สะเพียรชัย เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป (เท่ากับว่านายบัณฑิต ยังไม่ทันได้นั่งเก้าอี้ซีอีโออย่างเป็นทางการเลย) เพื่อเตรียมขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนช่วงครี่งหลังปีนี้ ทำให้บริษัทจะมีรายได้ประจำ (Recuring Income) สนับสนุนธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต นอกเหนือจากรายได้ธุรกิจ Contact Center และ Call Center
ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากราคาหุ้น OTO ที่ปรับลงแรงอย่างต่อเนื่อง หลังขึ้นไปทำจุดสูงสุด 24.40 บาท (วันที่ 30 พ.ค. 2566) จากแรงเก็งการเดินหน้าเข้าสู่กำไรธุรกิจใหม่ด้านพลังงานทดแทน แต่หลังจากนั้นหุ้น OTO ถูกกระหน่ำขายออกมาอย่างหนัก จนล่าสุด (23 มิ.ย.) ปรับลงมาเหลือเพียง 1.81 บาท หรือปรับลงกว่า 22.59 บาท หรือปรับลงกว่า 92.50% ประกอบกับการลาออกของนายบัณฑิต สะเพียรชัย ดังกล่าว จะส่งผลให้แผนการระดมทุนผ่านการออกหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ให้แก่นักลงทุน 4 ราย จำนวน 50,000,000 หุ้น คือ 1)Capital Asia
Investments PTE. LTD. จำนวน 20,000,000 หุ้น 2)นายยศวีย์ วัฒนธีระกิจจา จำนวน 20,000,000 หุ้น 3)นายนพพร วิฑูรชาติ จำนวน 5,000,000 หุ้น และ 5)นางสาวรฐา วีรพงษ์ จำนวน 5,000,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 16 บาท มีอันต้องล่มลงไปด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ OTO ระบุว่า หากแผนการเพิ่มทุนแบบ PP ไม่สำเร็จ บริษัทยังมีแนวทางอื่นในการจัดหาเงินทุน เพื่อให้บริษัทสามารถเข้าลงทุนธุรกิจพลังงานตามเป้าหมายได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน กระแสเงินสดที่เกิดจากการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ OTO-W1 ครั้งที่ 1 และเงินฝากในบัญชีบริษัท โดยเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการเข้าลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป