ถ้า“ก้าวไกล” แตกหัก “เพื่อไทย” ปมเก้าอี้ “ปธ.สภาฯ” อนาคต “การเมือง” จะไปทางไหน ?
เปิดฉากทัศน์รัฐบาล หลังเกิดรอยร้าวพรรคร่วม เกมชิงเก้าอี้ตำแหน่งประธานสภาฯ ขณะที่นักวิเคราะห์ มองว่า "ก้าวไกล" ยังเป็นแต้มต่อทางการเมือง
การเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าจะคุยมาพักใหญ่แล้วของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนนี้แม้ว่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่ลงตัวในตำแหน่งของประธานสภา เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าหา จุดลงตัวร่วมกัน หรือ กลายเป็น แตกหักกันแน่
เพราะล่าสุดเค้าร่างของรอยร้าวกับการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลจากตำแหน่งประธานสภาฯ เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อพรรคเพื่อไทยออกมาประกาศจะยืนยันที่จะใช้สูตร 14+1 ในการจัดสรรตำแหน่งทางการเมือง โดยพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยควรได้ตำแหน่งประธานสภาฯ แต่หลังจากที่พรรคเพื่อไทยแถลงไม่นานพรรคก้าวไกล ก็ชิงเปิดตัวว่าที่ประธานสภาฯของพรรค พร้อมนโยบายการทำงาน ก่อนที่ในช่วงดึกจะแจ้งเลื่อนการประชุมของทีมเจรจา เพื่อหาข้อสรุปตำแหน่งประธานสภาฯ
ในมุมมองผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง อย่าง รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ถ้าหากมองในการเดินเกมทางการเมืองในตอนนี้ ก็ต้องบอกว่า เป็นเกมการต่อรองที่ทั้ง 2 พรรคกำลังช่วงชิงตำแหน่ง ประธานสภาฯ ซึ่งก้าวไกล ยังเชื่อว่าสามารถคุมเกมนี้ได้ ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็โดนกดดันจากปัจจัยภายนอก ในเรื่องพานายทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน
และหากมองอนาคตการเมืองของ “ก้าวไกล” จากนี้มีเพียง 2 ทางเลือก คือการแกนนำรัฐบาลตาม ฉันทามติของประชาชนในการเลือกตั้ง หรือ เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตาม MOU ก็พร้อมเป็น พรรคฝ่ายค้าน
“การที่ก้าวไกลเลื่อนการเจรจากับเพื่อไทยในวันนี้ ถือเป็นการประกาศว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้กลัวเพื่อไทย เพราะก้าวไกลในวันนี้ได้นำหน้าเพื่อไทยไปแล้ว 1 ก้าว เราจะสังเกตเห็นปรากฎการณ์เรื่องการเปิดตัวประธานสภาฯ การชิงเปิดตัวมีความหมายก็คือการทำให้เรื่องการโหวตประธานสภาเป็นเรื่องของคนไทย ซึ่งก้าวไกลมั่นใจว่าแนวทางการทำงานเป็นแรงหนุนที่ทำให้ข้อต่อรองของเพื่อไทยไม่ประสบความสำเร็จ แต่เกิดจากประชาชนที่ไม่เอาด้วย จึงเป็นกลยุทธ์ที่ว่า.. กูไม่กลัวมึง” รศ.ดร.ธนพร กล่าว
ขณะเดียวกันมีการประเมินกันอีกว่า หากมองตามความเป็นจริงแล้ว ในตอนนี้มีสิทธิที่พรรคร่วมรัฐบาลของก้าวไกลจะมีโอกาสออกมาในรูปแบบต่างๆ คือ 1.พรรคก้าวไกล ยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ 8 พรรค ตาม MOU ที่ได้ประกาศร่วมกัน
หรือ 2 ทุกอย่างยังเป็นไปตามผลการเลือกตั้งที่ฝ่ายประชาธิปไตยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคที่ขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลนั้นคือ พรรคเพื่อไทย ในการคุมเกมการเมืองนับจากนี้ จากปัจจัยรอบด้านที่ทำให้พรรคก้าวไกล ไม่สามารถไปต่อในการจัดตั้งรัฐบาลได้
และแนวทางสุดท้ายคือ การจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นไปตามผลการเลือกตั้งที่ประชาชนมอบฉันทามติ นั้นหมายความว่า อาจเกิดการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย บวกกับเสียง ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ก่อนจะไปดึง ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่น เพื่อให้ได้ 250 เสียงเพียงพอต่อการทำงานในสภาฯ
หรือการที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ร่วมเสียงกับอดีตพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ยกเว้นพรรคร่วมไทยสร้างชาติที่แกนนำเพื่อไทยประกาศในช่วงเลือกตั้งว่าไม่สามารถทำงานร่วมกันได้
แต่สุดท้ายบทสรุปการตั้งรัฐบาลจะสำเร็จหรือไม่ ในตอนนี้ไม่ใช่เพียงปัจจัยภายนอกเท่านั้น ที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดต ที่ต้องเผชิญอยู่ แต่ยังมีศึกภายในก็คือการต่อรองตำแหน่งภายในที่ดูจะไม่ได้ข้อสรุปง่ายๆ จนอาจจะกลายเป็นรอยร้าว ส่งผลให้การตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จดั่งที่ฝันเอาไว้.