6 หุ้นแบงก์เด้งแรง! โบรกชี้งบ Q2/66 โตดี KTB-BBL-SCB-KBANK-TISCO-BAY นำทีมเด่น

6 หุ้นแบงก์เด้งแรง! โบรกชี้หุ้นกลุ่มธนาคารราคาย่อตัว มองเป็นจังหวะซื้อ รับกำไรไตรมาส 2/66 โตดี KTB-BBL-SCB-KBANK-TISCO-BAY นำทีมเด่น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 มิ.ย.66) ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้นยกแผง นำโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ณ เวลา 12:10 น. อยู่ที่ระดับ  158.50 บาท บวก 2.00 บาท หรือ 1.28% สูงสุดที่ระดับ 159.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 157.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย  773.22 ล้านบาท

ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ณ เวลา 12:12 น. อยู่ที่ระดับ 1.53 บาท บวก 0.03 บาท หรือ 2.00% สูงสุดที่ระดับ 1.54 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 1.50.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย  530.27 ล้านบาท

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ณ เวลา 12:13 น. อยู่ที่ระดับ 129.50 บาท บวก 1.50 บาท หรือ 1.17% สูงสุดที่ระดับ 130.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 127.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย  629.79 ล้านบาท

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ณ เวลา 12.15 น. อยู่ที่ระดับ 106.50 บาท บวก 2.00 บาท หรือ 1.91% สูงสุดที่ระดับ 107.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 104.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 520.17 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ณ เวลา 12:17 น. อยู่ที่ระดับ 19.30 บาท บวก 0.30 บาท หรือ 1.58% สูงสุดที่ระดับ 19.40 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 19.10 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 516.09 พันล้านบาท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ณ เวลา 12:18 น. อยู่ที่ระดับ 30.75 บาท บวก1.00 บาท หรือ 3.36% สูงสุดที่ระดับ 30.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 30.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 11.62 ล้านบาท

ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) กล่าวว่า กาปรับลงของหุ้นกลุ่มธนาคารเป็นเพียงการ “ปรับฐาน” หรือขายทำกำไร และไม่ได้พบปัจจัยลบที่มีผลต่อราคาอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันเป็นจังหวะของการเข้าซื้อ จากแนวโน้มกำไรไตรมาส 2/2566 จะออกมาเติบโต

“จากการตรวจสอบข้อมูลผ่านทาง IR หุ้นในกลุ่มแบงก์ รวมถึงข่าวจากช่องทาง Bloomberg และธปท.ยังไม่พบปัจจัยลบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาหุ้นแบงก์” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

นายเทิดศักดิ์ ประเมินว่า ดัชนีหุ้นกลุ่มแบงก์ช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างปรับตัวได้ดีกว่าดัชนี หรือ Outperformed SET Index พอสมควร โดยเฉพาะธนาคารใหญ่ เช่น TTB, BBL ที่ปรับตัวได้ดีกว่ากลุ่มแบงก์อย่างเห็นได้ชัดก่อนปรับฐาน จึงมีความเป็นไปได้ว่าเกิดการปรับพอร์ตของนักลงทุน ประกอบกับภาวะตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกที่ผันผวนตลอดงวดไตรมาส 2/2566 อาจสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับรายการวัดมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนอย่างมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน หรือ FVTPL ของแต่ละธนาคาร

ทั้งนี้ เงินลงทุนที่จัดประเภทเป็น FVTPL ประกอบด้วยสินทรัพย์หลายประเภท รวมถึงรายการ FX ที่ทำให้กับลูกค้า ดังนั้นรายการดังกล่าวจึงค่อนข้างผันผวนและอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์กับภาวะตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมากนัก โดย FVTPL กลุ่มแบงก์งวดไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท หรือ 5% ของรายได้รวมกลุ่มฯ และมีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ไตรมาส 1/2563-1/2566 อยู่ที่ 9.4 พันล้านบาทต่อไตรมาส

ขณะที่ ประเด็นการถือหุ้นในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ของบลจ.บัวหลวง ไม่ได้มีผลต่องบการเงินของ BBL เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่บลจ.บัวหลวงรับบริหารจัดการ

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการตั้งสำรองสำหรับสินเชื่อ STARK นั้น อิงจากการประชุมนักวิเคราะห์งวดไตรมาส 1/2566 ชี้ว่าภาระหนี้ส่วนใหญ่อยู่กับ KBANK และบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ซึ่งเป็นประเด็นที่ตลาดรับรู้แล้ว รวมทั้ง KBANK และ SCB ได้มีการเปิดเผยแนวทางบริหารจัดการการตั้งสำรองแล้ว

โดยสิ่งที่นักลงทุนควรติดตามต่อสำหรับกรณี STARK คือทั้ง 2 ธนาคารข้างต้นจะมีการ Write-off ในงวดไตรมาส 2/2566 เลยหรือไม่ มองว่าหากมีการ Write-off แล้ว น่าจะคลายความกังวลบางส่วนให้กับนักลงทุนได้

สำหรับภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ณ สิ้นงวดไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 3.56% ทรงตัวจากสิ้นปี 2565 และยังต่ำกว่าก่อนโควิดที่ 3.73% แม้ยังคงมุมมองว่าทิศทาง NPL กลุ่มแบงก์ยังคงสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี เหตุจากการฟื้นตัวในแต่ละกลุ่มลูกค้าไม่เท่ากัน รวมทั้งการหมดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวช่วงสิ้นปี 2566

อย่างไรก็ตาม กลุ่มแบงก์มีการเตรียมระดับการตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนจากอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (Coverage Ratio) ณ สิ้นงวดไตรมาส 1/2566 ที่ 180.4% เพิ่มจาก 176.9% ณ สิ้นปี 2565 และ 153.3% ณ สิ้นปี 2562

คงมุมมองกำไรสุทธิไตรมาส 2/2566 สำหรับธนาคารใหญ่ ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน และจากปีที่ผ่านมา จากปัจจัยหนุนด้านดอกเบี้ยตามการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ ซึ่งราคาหุ้นในกลุ่มแบงก์ที่ปรับฐานลงมา ทำให้ราคาจูงใจขึ้น

สำหรับคำแนะนำเลือก KTB ราคาเป้าหมาย 20.30 บาท จากพัฒนาการด้านดิจิทัลผ่านเป๋าตัง และแนวโน้ม ROE ดีขึ้นต่อเนื่อง, BBL ราคาเป้าหมาย 174 บาท จาก Coverage Ratio สูงสุดในกลุ่มฯ, SCB ราคาเป้าหมาย 132 บาท ราคาแลกการ์ดธนาคารใหญ่อื่น ๆ พร้อมคาดดิวิเดนด์ยีลด์ 6%, KBANK ราคาเป้าหมาย 140 บาท

ส่วนธนาคารเล็กเลือก TISCO ราคาเป้าหมาย 108 บาท ที่มี ROE และดิวิเดนด์ยีลด์สูงสุดในกลุ่มแบงก์

Back to top button